Clock


วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

โรคตาในเด็ก

โรคตาในเด็ก

ปัญหาโรคตาเป็นปัญหาที่พบได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยปัญหาที่พบในผู้ป่วยแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน การให้การดูแลสุขภาพตาในเด็กจึงมีความสำคัญ เพราะมีโรคตาหลายๆ โรคซึ่งหากได้รับการดูแลอย่างไม่ถูกต้อง อาจเกิดผลร้ายต่อเด็ก ครอบครัว ไปตลอดชีวิต ในทางกลับกัน หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม มักให้ผลการรักษาที่ดี และน่าชื่นใจ
โรคตาที่พบบ่อยและน่าสนใจในเด็ก ได้แก่


โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด
• พบในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด คือทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า ๑,๕๐๐ กรัม หรือมีอายุครรภ์น้อยกว่า ๓๐ สัปดาห์ หรือทารกที่มีอาการผิดปกติหลังคลอด อาจทำให้เกิดความผิดปกติของจอประสาทตาที่ยังเจริญไม่เต็มที่ เกิดปัญหาจอประสาทตาหลุดลอก ทำให้เด็กตาบอดอย่างถาวรไปตลอดชีวิตได้
• ดังนั้น หากทารกคลอดก่อนกำหนดจึงควรได้รับการตรวจจอประสาทตาเพื่อเฝ้าระวังโรคจอ ประสาทตาผิดปกติ และได้รับการรักษาที่ทันท่วงที โดยควรพาเด็กไปพบจักษุแพทย์อย่างช้าคือเมื่อทารกอายุไม่เกิน ๔ สัปดาห์

ท่อน้ำตาอุดตันแต่กำเนิด
พบได้ประมาณร้อยละ ๑๕ ของเด็กเกิดใหม่ เกิดจากการอุดตันของท่อน้ำตา มักเริ่มมีอาการเมื่ออายุตั้งแต่ ๓ สัปดาห์ เนื่องจากเริ่มมีการสร้างน้ำตา เด็กจะมีอาการตาแฉะหรือน้ำตาไหล ทดสอบโดยการกดเบาๆ บริเวณข้างจมูกหัวตา จะมีของเหลวเหนียวอาจเป็นหนองออกมาทางรูน้ำตาบริเวณใกล้หัวตา อาการมักหายได้เองภายในอายุ ๖ เดือนถึง ๑ ขวบ


การดูแลรักษา
อายุน้อยกว่า ๑ ขวบ แนะนำนวดหัวตาโดยนวดไล่จากบริเวณหัวตาลงมาถึงด้านข้างจมูก (Creiger maneuver) วันละหลายๆ ครั้ง (เช่นวันละ ๔ รอบๆ ละ ๒๐ ครั้ง) และใช้ยาปฏิชีวนะ หยอดตาวันละ ๑-๔ ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน (ช่วงมีขี้ตามากควรหยอดวันละ ๔ ครั้ง ส่วนช่วงไม่มีขี้ตาอาจให้หยอดวันละครั้งก่อนนอน)
อายุมากกว่า ๑ ขวบ แนะนำพบจักษุแพทย์ อายุระหว่าง ๖ เดือนถึง ๒ ขวบ อาจทำการแยงท่อน้ำตา (probing) เพราะถ้ารอทิ้งไว้จนอายุเกิน ๓ ขวบ มักต้องทำการผ่าตัดทำทางเชื่อมต่อใหม่ระหว่างถุงน้ำตาและจมูก
สิ่งที่ต้องระวังคือ อาการน้ำตาไหลในเด็กเล็กอาจเป็นอาการแสดงของโรคต้อหินแต่กำเนิด ดังนั้น หากดูลักษณะลูกตาเด็กใหญ่ผิดปกติ และคลำลูกตาผ่านเปลือกตาบนแล้วรู้สึกว่าตาข้างนั้นแข็งกว่าตาอีกข้าง ควรปรึกษาจักษุแพทย์ทันที

โรคตาเข
แบ่งเป็นตาเขจริง และตาเขซ่อนเร้น อาจเขเข้าใน หรือเขออกนอก โดยอาจเกิดได้หลายสาเหตุทั้งจากความผิดปกติของสายตา กล้ามเนื้อกลอกตา หรือเส้นประสาทควบคุมการกลอกตา การทดสอบสามารถทำได้โดยการใช้ไฟฉายส่องบริเวณหว่างคิ้วเด็ก ถ้าเงาไฟฉายไม่ตกกลางตาดำของตาทั้งสองข้าง แสดงว่าเด็กอาจมีตาเข ควรพาไปพบจักษุแพทย์



แนวทางการรักษาเด็กตาเข
ขึ้นกับสาเหตุของตาเข กรณีเกิดจากสายตาผิดปกติ มักเริ่มการรักษาด้วยการแก้ไขสายตาผิดปกติโดยการใส่แว่นตา ส่วนจากสาเหตุอื่นๆ อาจต้องพิจารณาผ่าตัดแก้ไข
อย่างไรก็ตาม พึงระลึกเสมอว่าตาเขอาจเป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของมะเร็งจอประสาทตาได้ ดังนั้นเมื่อพบเด็กตาเข ควรไปพบจักษุแพทย์ซึ่งนอกจากจะเพื่อรับการรักษาตาเขและสายตาขี้เกียจแล้วยัง เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นจากมะเร็งจอประสาทตาด้วย (โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ขวบ)

ตากุ้งยิง
เป็นการอักเสบของต่อมน้ำตาหรือต่อมเหงื่อที่บริเวณเปลือกตา ทำให้เห็นการอักเสบบริเวณเปลือกตาด้านนอก หรืออาจเกิดการอักเสบที่บริเวณด้านในของเปลือกตาก็ได้
การรักษา
๑. โดยการใช้ยา ให้ยาปฏิชีวนะ หยอดตาวันละ ๔ ครั้ง ยาปฏิชีวนะชนิดกินนั้นจะพิจารณาให้เมื่อมีการอักเสบติดเชื้อของเปลือกตา บริเวณรอบๆ ร่วมด้วย ประคบน้ำอุ่นครั้งละ ๑๕ นาทีวันละ ๔ ครั้ง
๒. โดยการกรีดรักษา เมื่อใช้การรักษาข้างต้นแล้วไม่หายใน ๓-๔ สัปดาห์ (หรือกรีดเลยแต่แรกก็ได้) โดยจะร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะหยอดตาและประคบอุ่นวันละ ๔ ครั้งนาน ๗ วัน
สิ่งสำคัญนอกจากการรักษาคือการให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำของตากุ้งยิง เนื่องจากในเปลือกตาแต่ละข้างมีต่อมน้ำตาที่อาจอักเสบเป็นตากุ้งยิงได้ มากกว่าข้างละ ๔๐-๕๐ ต่อม ดังนั้น จึงควรแนะนำการหลีกเลี่ยงฝุ่นหรือเชื้อโรคเข้าตาและห้ามใช้มือขยี้ตา เพราะอาจทำให้เป็นตากุ้งยิงซ้ำได้บ่อยๆ
สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่เว็บไซต์ www.rcopt.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา