Clock


วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ไทย

ปีพุทธศักราช 2487 คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลปัจจุบัน) ขาดแคลนบุคลากรที่จะทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จึงโยกย้ายนพยาบาลบางส่วนมาฝึกหัดตรวจวิเคราะห์ ก่อให้เกิดปัญหาการใช้บุคลากรไม่ตรงตามเป้าหมายการผลิต หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ (ลิ ศรีพยัตต์) ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลขณะนั้น ได้นำปัญหาดังกล่าวเสนอพระอัพภันตราพาธพิลาศ (กำจร พลางกูร) อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาปัญหาและร่างหลักสูตร เพื่อผลิตบุคลากรที่ตรงตามสายงาน แต่โครงการต้องระงับไป เพราขาดแคลนงบประมาณเนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพอดี



ปีพุทธศักราช 2497 หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ ( ศาสตราจารย์ นพ.เฉลิม พรมมาส) อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์คนต่อมา ได้รื้อฟื้นโครงการขึ้นมาใหม่ โดยขอความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID ในปัจจุบัน) ซึ่งได้รับการตอบสนองให้ความสนับสนุนด้วยดี ทางมหาวิทยาลัยจึงร่างหลักสูตรตามแบบที่ใช้ในประเทศอเมริกาขณะนั้น คือรับบุคคลที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มาฝึกอบรมระดับอนุปริญญาต่ออีก 3 ปี และเพื่อเตรียมความพร้อมในหลักสูตรดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2498 มหาวิทยาลัย แพทยศาสตร์ได้ส่ง นพ.วีกูล วีรานุวัตติ์ และ นพ.เชวง เดชะไกศยะ ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับเทคนิคการแพทย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี



องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความเห็นชอบโครงการผลิตบุคลากร เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ที่มหาวิทยาลัยแพทย์ขอรับการสนับสนุน โดยได้ลงนามให้ความช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2499 และเริ่มก่อสร้างโรงเรียนเพื่อฝึกอบรมขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมกันนั้น องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ส่ง Dr.Robert W. Prichard มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยมี นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง, พันโทนิตย์ เวชชวสิสติ, ศาสตราจารย์ นพ.กำธร สุวรรณกิจ และ นพ.วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณะกรรมการร่างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้ใช้ชื่อว่า "เทคนิคการแพทย์" หลักสูตรในระยะแรก ตั้งแต่รุ่นที่ 2 ถึงรุ่นที่ 7 มีการสอนถ่ายภาพเอกซ์เรย์และล้างฟิล์มร่วมด้วย



นักศึกษาเทคนิคการแพทย์รุ่นแรกของประเทศไทย รับโอนมาจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มาเรียนเตรียมเทคนิคการแพทย์ปีที่ 1 โดยใช้สถานที่และอาจารย์ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) ซึ่งนักศึกษาเทคนิคการแพทย์รุ่นแรกของประเทศไทยมีเพียง 5 คนเท่านั้น วันที่ 13 พฤษภาคม 2499 มีประกาศกฤษฎีกาจัดตั้ง "โรงเรียนเทคนิคการแพทย์" สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 73 ตอนที่ 40 วันที่ 15 พ.ค.2499) โดยมีภารกิจหลัก 2 ประการคือ จัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักเทคนิคการแพทย์ และให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการแก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักศึกษาเทคนิคการแพทย์รุ่นแรกของประเทศไทย สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาเทคนิคการแพทย์ (อทกพ.) เมื่อเดือนมีนาคม 2500



ต่อมา ็มีประกาศกฤษฎีกาจัดตั้ง "คณะเทคนิคการแพทย์" เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2500 (ลงในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 74 ตอนที่ 60 วันที่ 9 ก.ค.2500) โดยมี นพ.วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณบดีท่านแรก ซึ่งนับเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์เทคนิคการแพทย์ในประเทศไทย นับแต่นั้นเป็นต้นมา



ปีพุทธศักราช 2503 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้ปรับขยายหลักสูตรจากอนุปริญญา เป็นระดับปริญญาตรี (ปรับก่อนประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 2 ปี) โดยรับนักศึกษาอนุปริญญาปีสุดท้าย ที่มีคะแนนตลอดหลักสูตรเกิน 70% มาศึกษาต่ออีก 1 ปี ได้วุฒิวิทยาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) ซึ่งบัณฑิตรุ่นแรกที่มีคุณวุฒิ วท.บ. (เทคนิคการแพทย์) มีเพียง 3 คนเท่านั้น



ต่อมา ปีพุทธศักราช 2547 มีการตราพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2547 เป็นผลให้มีสภาเทคนิคการแพทย์ และคณะกรรมการสภาวิชาชีพขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมี รศ.สมชาย วิริยะยุทธกร ดำรงตำแหน่งนายกสภาเทคนิคการแพทย์เป็นคนแรก




จากวันนั้น ถึงวันนี้ วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ของเรา ได้หยั่งรากลึกในหน้าประวัติศาสตร์มาแล้วกว่ากึ่งศตวรรษ จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพียงแห่งเดียว ได้แตกดอกออกกอไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก จากบัณฑิตรุ่นแรกทีมีเพียง 3 คน ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลายพันคน กระจายกันออกไปรับใช้สังคมอยู่ในส่วนต่างๆ ของประเทศ นี่ย่อมเป็นประจักษ์พยานบ่งชี้ว่า วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ มีบทบาทสำคัญต่อระบบสุขภาพของคนไทยมาช้านานแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา