Clock


วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

การวัดความดันโลหิต

การวัดความดันโลหิต

เป็นที่ทราบกันทั่วไป ภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดโรคอันตรายร้ายแรง เช่น เส้นโลหิตในสมองแตก ทำให้เป็นอัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น

ภาวะความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีอาการ จนกว่าจะมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรงเกิดขึ้นแล้วจึงจะปรากฏอาการ เพราะฉะนั้นปัญหาที่สำคัญในการควบคุมโรคความดันโลหิตสูง คือ การทำให้ประชากรกลุ่มที่มีความดันโลหิตสูง ทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง จากสถิติพบว่า ในประเทศไทย ประชากรที่มีความดันโลหิตสูง ทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง เฉลี่ยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

ความดันโลหิต จะประกอบด้วย ความดันตัวบน เรียกว่า ความดันซิสโตลิค (Systolic Pressure) และความดันตัวล่าง เรียกว่า ความดันไดแอสโตลิค (Diastolic Pressure) ซึ่งค่าปกติจะไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถ้าความดันโลหิตสูงกว่านี้ ถือว่ามี ความดันโลหิตสูง

ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกได้กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยความดันโลหิตสูงไว้ว่า

ความดันโลหิตสูง” คือ สภาวะที่ค่าของความดันเลือดที่วัดอย่างถูกต้อง และมีการตรวจวัดหลายๆ ครั้ง ในต่างวาระกันแล้ว พบว่ามีระดับของความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท

เราแบ่งระดับความรุนแรง ของภาวะความดันโลหิตสูงไว้ ดังนี้

pic_a03

หมายเหตุ : ถ้าหากระดับ sBP และ dBP อยู่ในระดับความรุนแรงต่างกัน ให้ถือระดับที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์

ผู้รับการตรวจวัดความดันโลหิต ควรละเว้นสิ่งต่อไปนี้ ก่อนวัดความดันโลหิต ประมาณ 1 ชั่วโมง ได้แก่

1. การออกกำลังกาย

2. การดื่มกาแฟ สุรา หรือเครื่องดื่มผสม คาเฟอีน

3. การสูบบุหรี่

4. ควรนั่งพักประมาณ 5 นาที และถ้าพบว่า มีความดันโลหิตสูง ควรตรวจวัดซ้ำอีก 2-3 ครั้ง

ส่วน ผู้ที่ยืนยันการวินิจฉัยว่า มีความดันโลหิตสูง ควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อลดระดับความดันโลหิตลง ดังนี้

1. ลดน้ำหนัก ถ้ามีน้ำหนักเกิน

2. จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์

3. เพิ่มการออกกำลังกาย ชนิดแอโรบิค (30-45 นาที/วัน)

4. จำกัดปริมาณโซเดียม (งดรับประทานเค็มให้มากที่สุด)

5. ได้รับโปแตสเซียมอย่างเพียงพอ เช่น รับประทานผลไม้มากขึ้น

6. หยุดการสูบบุหรี่

7. ลดการรับประทานไขมัน และโคเลสเตอรอล

จากการศึกษา การรับประทานอาหารที่เน้น ผัก ผลไม้ และนมไขมันต่ำ ลดเค็ม ร่วมกับลดปริมาณไขมัน สามารถลดความดันโลหิตลงได้ประมาณ 8-14 มม.ปรอท

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ดังกล่าวจะให้ประโยชน์ทั้งในด้านการลดความดันโลหิต และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ จึงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ถึงแม้ผู้ป่วยจะได้รับยาลดความดันโลหิตแล้วก็ตาม

เมื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแล้ว 3-6 เดือน ยังไม่สามารถลดความดันโลหิตได้ดีพอ ควรใช้ยารักษาลดความดันโลหิต ตามคำแนะนำของแพทย์

โดย นพ. วิชัย จตุรพิตร ผู้อำนวยการ ศูนย์แพทย์อาชีวะเวชศาสตร์กรุงเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา