Clock


วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

สมรรถภาพการการได้ยิน (Audiometry)

สมรรถภาพการการได้ยิน (Audiometry)

pic_a10

การสูญเสียการได้ยินจากการทำงาน

การทำงานอาจมีผลทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน ในการทำงานโดยทั่วไป การสูญเสียการได้ยินสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บที่ศีรษะ การเกิดแผลไฟไหม้บริเวณหู การเกิดการฉีกขาดของแก้วหูจากความกดอากาศสูงๆ

แต่สาเหตุการสูญเสียการได้ยินจากการทำงานที่พบบ่อยที่สุด คือ การสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดังที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Noise – Induced Hearing Loss)

การสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง

เสียงที่ดังจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ประสาทรับฟังเสียง ซึ่งอยู่ในหูชั้นใน โดยเซลล์จะถูกทำให้ผิดรูป หรือหลุดลอกออกเมื่อได้รับแรงสั่นสะเทือนจากเสียงที่เข้ามา

เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นจาการสัมผัสเสียงดัง ในระยะแรกการสูญเสียการได้ยินจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หลังจากได้พักหูจากเสียงดัง การสูญเสียการได้ยินจะสามารถฟื้นคืนกลับมาสู่การรับฟังปกติได้ ซึ่งการสูญเสียการได้ยินชั่วคราวเช่นนี้ อาจจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมง หรืออาจจะนานหลายชั่วโมงจนเป็นวันก็ได้ เช่น ผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง จะมีการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยินเมื่อเลิกงาน หลังจากกลับไปพักผ่อนที่บ้าน วันรุ่งขึ้นการได้ยินจะกลับมาเป็นปกติ เรียกภาวะดังกล่าวว่า การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว” (Temporary Threshold Shift : TTS)

หลังจากเกิดสภาวะการสูญเสียการได้ยินชั่วคราวแล้ว ถ้าไม่ได้มีการป้องกันและแก้ไข ยังคงรับสัมผัสเสียงดังต่อเนื่องไปเรื่อยๆ การสูญเสียการได้ยิน จะรุนแรงขึ้นจนเกิดการสูญเสียการได้ยินแบบถาวร” (Permanent Threshold Shift) และจะไม่กลับมาได้ยินปกติได้อีกเลย ซึ่งเกิดจากการที่เซลล์ประสาท (Sensory Cells) ในหูที่เสียหายจากความสั่นสะเทือนของเสียงมีการหลุดลอกหรือผิดรูปไป และมีเซลล์ใหม่งอกขึ้นมาทดแทน โดยเซลล์ใหม่ที่งอกขึ้นมานั้นไม่สามารถทำงานรับสัญญาณเสียงได้อีกต่อไป (Non Functioning Scar Tissue)

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดภาวะสูญเสียการได้ยินจากการทำงาน

1. ระดับความเข้มของเสียง (Intensity) คือ ระดับความดังของเสียง มีหน่วยวัดเป็น เดซิเบล (db)” แน่นอนว่าเสียงที่ดังมากย่อมก่ออันตรายต่อหูมากกว่าเสียงที่ดังน้อย

2. ความถี่ของเสียง (Frequency) มีหน่วยวัดเป็น เฮิรตซ์ (Hz)” เสียงที่มีความถี่สูง คือ เสียงแหลม จะทำลายประสาทหูได้มากกว่าเสียงชนิดความถี่ต่ำ

3. ระยะเวลาที่สัมผัสเสียงดัง ผู้ที่สัมผัสเสียงดังมานานย่อมมีโอกาสเกิดหูเสื่อมมากกว่า ซึ่งจะขึ้นกับจำนวนชั่วโมงที่รับเสียงต่อวัน และจำนวนปีที่ทำงานมา

4. ลักษณะของเสียง เสียงชนิดที่กระแทกไม่เป็นจังหวะ จะทำลายประสาทหูได้มากกว่าเสียงชนิดที่ดังต่อเนื่องสม่ำเสมอ

5. ความไวต่อการเสื่อมของหูของแต่ละบุคคลเอง เป็นลักษณะเฉพาะของคนที่ไม่เหมือนกัน บางคนโชคดีทนต่อเสียงได้ดี แต่บางคนจะมีความไวต่อการเสื่อมของประสาทหูมาก ก็จะเกิดปัญหาเร็วกว่า

ลักษณะทางคลินิค

1. Tinnitus ผู้ที่เริ่มมีการเสื่อมสมรรถภาพการได้ยิน อาจจะมีการได้ยินเสียงผิดปกติดังอยู่ในหู ซึ่งเสียงจะชัด และดังมากขึ้นในขณะอยู่ในที่เงียบๆ ดังนั้นบางคนบ่นรำคาญการมีเสียงในหูที่รบกวนจนนอนไม่ค่อยหลับ ลักษณะของเสียงที่ดังรบกวนมักจะเป็นเสียงที่มีความถี่สูง (เสียงแหลมมากกว่าเสียงทุ้ม) และอาจจะดังอยู่เป็นพักๆ หรือดังอยู่ตลอดเวลาก็ได้ ศัพท์ทางแพทย์เรียกอาการเช่นนี้ว่า “Tinnitus”

2. ความผิดปกติของการได้ยิน ในระยะแรกจะเกิดขึ้นที่เซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่รับเสียงความถี่สูงก่อน ทำให้การได้ยินเสียงชนิดที่มีเสียงสูง (เช่น เสียงเด็ก หรือเสียงผู้หญิงที่เสียงแหลม) มีความผิดปกติไปโดยที่ยังเป็นในระยะที่เซลล์ประสาทรับฟังเสียงความถี่ต่ำยัง ปกติ การรับฟังเสียงพูดคุยธรรมดาทั่วๆ ไปจะเป็นปกติ เมื่อการเสื่อมของหูเพิ่มมากขึ้น จะลามไปยังเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่รับฟังเสียงความถี่ต่ำ ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดหูตึงฟังคนอื่นพูดไม่ชัด โดยเฉพาะการได้ยินจะลำบากมากขึ้น ถ้ามีเสียงรบกวนในบริเวณนั้นด้วย เพราะเสียงรบกวนทั่วไปมักจะเป็นเสียงความถี่ต่ำ ทำให้มาบดบังคลื่นเสียงของคำพูด ซึ่งมีความถี่ต่ำเช่นกัน

3. การตรวจวัดสมรรถภาพการได้ยินด้วยเครื่องตรวจวัดการได้ยิน (Audiometer) เครื่องตรวจวัดการได้ยินจะใช้เสียงที่มีความถี่สูง 1 ชุด (ความถี่ 4,000-8,000 Hz) และเสียงที่มีความถี่ต่ำ ซึ่งเป็นเสียงที่ใช้พูดสนทนากันตามปกติ (ความถี่ 500-2,000 Hz) อีก 1 ชุดแล้วตรวจสอบดูว่า เราได้ยินลดลงหรือไม่ และถ้าได้ยินลดลงเป็นการลดลงในส่วนไหน ส่วนที่รับฟังเสียงความถี่สูงหรือส่วนที่รับฟังเสียงความถี่ต่ำ หรือลดลงทั้งหมด และถ้าลดลงความรุนแรงของการลดลงมากน้อย แค่ไหนซึ่งจากผลการตรวจ เราจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ผลการตรวจปกติ ทั้งการรับฟังเสียงความถี่สูง และการรับฟังเสียงความถี่ต่ำ

กลุ่มที่ 2 ผลการตรวจผิดปกติ โดยการรับฟังเสียงที่ผิดปกติ เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนที่เป็นเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่รับฟังเสียงความถี่สูงเท่านั้น เซลล์ประสาทที่รับฟังเสียงความถี่ต่ำยังปกติดี เพราะฉะนั้น กลุ่ม นี้จึงมีความเสื่อมสมรรถภาพของหูเกิดขึ้นแต่ยังไม่มีหูตึง และจะยังไม่มีปัญหาในการสื่อสารกับบุคคลอื่นๆ ระยะนี้เป็นระยะที่ยังสามารถดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหูตึงในอนาคตได้

กลุ่มที่ 3 ผลการตรวจผิดปกติ พบทั้งในส่วนของการรับฟังเสียงความถี่สูง (4,000-8,000 Hz) และในส่วนของการรับฟังเสียงความถี่ต่ำ (500-2,000 Hz) เพราะฉะนั้น กลุ่มนี้จะมีความเสื่อมสมรรถภาพของการได้ยินจนถึงระดับที่มีภาวะหูตึงเกิด ขึ้นแล้ว ซึ่งความรุนแรงของหูตึงก็จะตรวจวัดได้จากระดับความดังของเสียงที่ยังมีความ สามารถรับฟังได้

กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มซึ่งมีความผิดปกติ ของการรับฟังเสียงที่ส่วนรับฟังเสียงความถี่ต่ำ (ความถี่ 500-2,000 Hz) เท่านั้น การรับฟังเสียงความถี่สูง (ความถี่ 4,000-8,000 Hz) ยังปกติ กลุ่มนี้จะมีภาวะหูตึงโดยที่สาเหตุมักจะมาจากโรคหูเองโดยตรง เช่น แก้วหูทะลุ, หูน้ำหนวก,หรือเป็นหวัดมีอาการหูอื้อในขณะที่รับการตรวจ

แนวทางการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน ในสถานประกอบการ

วัตถุประสงค์ การตรวจการได้ยินในสถานประกอบการ

1. เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานด้านระดับการได้ยินเสียงของลูกจ้างที่เข้าปฏิบัติงานใหม่ในแผนกที่มีเสียงดังจากเครื่องจักรมากกว่า 85 dB(A)

2. เพื่อเป็นการค้นหาผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยินในระยะเริ่มต้น

3. เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการควบคุมป้องกันการสูญเสียการได้ยินในสถานประกอบการ

4. เพื่อติดตามผลของการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน ในสถานประกอบการ

การเตรียมตัวสำรับเข้ารับการตรวจการได้ยิน เพื่อให้ผลของการตรวจการได้ยินมีความถูกต้อง ผู้เข้ารับการตรวจควรมีข้อปฏิบัติดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสรับเสียงดังๆ ก่อนเข้ารับการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นเสียงดังที่บ้านหรือที่ทำงาน และถ้าทำได้ก็ควรหลีกเลี่ยงเสียงดังอย่างน้อยที่สุดนาน 12 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีสภาวะเสื่อมสมรรถภาพการได้ยินชั่วคราว (TTS) ขณะรับการตรวจ

2. กรณีระหว่างรอรับการตรวจ ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปปฏิบัติงาน จะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง ที่สามารถลดเสียงที่เข้าสู่หูให้เหลือต่ำกว่าระดับ 85 dB(A) ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน และอนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติงานได้ไม่นานเกินกว่า 4 ชั่วโมงเท่านั้น

3. ออกจากสถานที่ที่มีเสียงดังก่อนจะเข้ารับการตรวจการได้ยิน อย่างน้อย 15 นาทีก่อนเข้าทำการตรวจ

4. ควรมาถึงห้องตรวจการได้ยิน และนั่งพักก่อนประมาณ 5 นาที เป็นอย่างน้อย เพื่อป้องกันการเหนื่อยหอบในขณะตรวจวัดการได้ยิน

5. ให้ถอดสิ่งของใดๆ ที่จะขัดขวางการได้ยิน เช่น แว่นตา หมวก ตุ้มหู เป็นต้น

6. รวบเส้นผมให้เรียบร้อย ไม่ควรให้มีเส้นผมขวางอยู่

7. ไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายไปมา ขณะรับการตรวจ เพราะจะเกิดเสียงรบกวนได้

8. สวมใส่หูฟังให้แนบ โดยไม่รูสึกอึดอัด โดยหูฟังสีแดงอยู่ข้างขวา หูฟังสีน้ำเงินอยู่ข้างซ้าย ขยับให้ตรงช่องพอดี หลังจากสวมใส่ดีแล้ว อย่าแตะต้องอีก

9. ผู้ที่มีปัญหาน้ำไหลออกจากหู มีขี้หูมากจนอุดตัน มีอาการของหวัดจนหูอื้อ ควรแจ้งให้ทราบด้วย

10. เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณให้ตอบสนองโดยการกดปุ่ม ระดับเสียงที่ได้ยินถึงแม้จะเบามาก แต่ถ้าได้ยินขอให้มีการตอบสนองด้วย

การควบคุมเสียงดัง และป้องกันการสัมผัสเสียงดัง เพื่อป้องกันโรคหูเสื่อมจากการทำงาน

การควบคุมเสียงดัง จะพิจารณาดำเนินการที่แหล่งกำเนิดเสียงก่อนเป็นลำดับแรก และพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมที่ทางผ่านของเสียง และมาควบคุมที่ตัวผู้ปฏิบัติงานตามลำดับ ซึ่งควรใช้องค์ประกอบทั้ง 3 ด้าน ผสมผสานกัน

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติการควบคุมลดเสียงที่เครื่องจักร และทางผ่านของเสียงมีข้อจำกัดมาก วิธีการที่มีความสำคัญจึงมักเป็นวิธีการควบคุมเสียงดังที่ตัวบุคคลผู้รับ เสียง เป็นวิธีการหลักในการป้องกันหูเสื่อมจากเสียงดัง

การควบคุมเสียงดังที่ผู้รับเสียง

วิธีนี้จะต้องมีการลงทุนค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์คุ้มครองความ ปลอดภัยส่วนบุคคล ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวก็มีอายุการใช้งานแตกต่างกันไป และการบังคับใช้กับคน มักจะมีความยุ่งยากพอสมควร เนื่องจากปัจจัยที่จะทำให้บุคคลมีพฤติกรรมอนามัยที่ดีในการป้องกันขึ้นกับ องค์ประกอบหลายอย่าง เช่น อุปกรณ์ที่ต้องการให้สวมใส่ควรมีน้ำหนักเบา สวมใส่สบาย ใส่แล้วไม่เจ็บ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสาร

การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

จุดมุ่งหมายในการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ก็เพื่อลดระดับเสียงที่ผ่านเข้ามาในช่องหู ซึ่งจะมีอุปกรณ์อยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ที่ครอบหู (Ear Muff) และที่อุดหู (Ear Plugs) โดยทั่วไปที่ครอบหู (Ear Muff) จะลดระดับเสียงได้มากกว่าที่อุดหู แต่ก็มีข้อดีข้อเสียที่จะต้องนำมาพิจารณาความเหมาะสมในการใช้ด้วย

ที่อุดหู (Ear Plug)

pic_a11

ที่ครอบหู (Ear Muff)

pic_a12

การจะเลือกใช้อุปกรณ์ลดเสียงชนิดใดขึ้นอยู่กับระดับความดังของเสียงที่ ได้รับ และอาจจะขึ้นกับชนิด และความถี่ของเสียงที่ได้รับ ถ้าสามารถตรวจวัดเสียงโดยแยกความถี่ได้

อย่างไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงความสะดวกสบาย และไม่เป็นอุปสรรคต่อการติดต่อสื่อสารด้วย

ประสิทธิภาพการป้องกัน ยังขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำ ตลอดจนพฤติกรรมการสวมใส่ที่ถูกต้อง และความพอดีกับช่องหูด้วย

อุปกรณ์ป้องกันเสียงจะมีการระบุค่าความสามารถในการลดเสียง (Noise Reduction Rating : NRR) ซึ่งโดยปกติผู้ผลิตจะระบุไว้ ดังตัวอย่าง

pic_a13

แต่จากการศึกษาพบว่า ค่า NRR ที่ระบุไว้มาจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง พบว่าค่า NRR ที่ได้ต้องปรับลดลง เรียกว่า Derated NRR ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นดังนี้

1. ถ้าเป็นที่ครอบหู ให้ปรับโดยใช้ค่า NRR ทีระบุมา แล้วหักออกไปอีก 25 %

2. ถ้าเป็นที่อุดหูที่ทำจากโฟม ให้ปรับโดยใช้ค่า NRR ที่ระบุมา แล้วหักออก 50%

3. ถ้าเป็นที่อุดหูที่ทำจากวัสดุอื่นๆ นอกเหนือจากโฟมให้ปรับโดยใช้ค่า NRR ที่ระบุมา แล้วหักออก 70%

ปัจจุบันที่อุดหู Ear Plug ส่วนใหญ่จะมีค่า NRR ระหว่าง 25-30 dB เมื่อปรับลดค่าลงมา ในขณะใช้งานจริงก็ยังสามารถลดเสียงที่ผ่านเข้ามาได้ พอเพียงในการป้องกันหูเสื่อม

pic_a14

ในบางบริเวณงานของสถานประกอบการบางแห่ง อาจจะมีเสียงเครื่องจักรดังจนเกินกว่า 100 dB(A) ก็อาจจำเป็นต้องสวมใส่ทั้งที่อุดหู และที่ครอบหูร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่พบน้อย

และการใช้อุปกรณ์ที่มีค่า NRR สูงเกินความจำเป็น ก็อาจจะมีผลเสียในการที่ไปลดการรับฟังเสียงในการสนทนาไปด้วย

โดย นพ. วิชัย จตุรพิตร ผู้อำนวยการ ศูนย์แพทย์อาชีวะเวชศาสตร์กรุงเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา