มะเร็งตับ
มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้ บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนขึ้นไป ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย และน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว เมื่อไปพบแพทย์ ก็มักจะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับระยะท้ายและเสียชีวิตภายใน 6-12 เดือน ความจริงโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ และพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้เป็นส่วนใหญ่
⇒ ชื่อภาษาไทย มะเร็งตับ มะเร็งเซลล์ตับ มะเร็งท่อน้ำดี
⇒ ชื่อภาษาอังกฤษ Cancer of liver, Hepatoma, Cholangiocarcinoma
⇒สาเหตุ
มะเร็งตับแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. มะเร็งเซลล์ตับ (hepatoma หรือ hepatocellular carcinoma/HCC)
หมาย ถึงมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่อยู่ในเนื้อตับ ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 75-80 ของผู้ป่วยมะเร็งตับทั้งหมด) และพบได้ในทั่วทุกภาคของประเทศ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี ซึ่งติดต่อทางเลือด (เช่น การถ่ายเลือด การสัมผัสถูกเลือด การฉีดยา การสักตามตัว) ทางเพศสัมพันธ์ และการติดจากแม่ไปยังทารกในครรภ์ ทำให้ผู้รับเชื้อกลายเป็นพาหะ (มีเชื้อในตับโดยไม่มีอาการแสดง) หรือโรคตับอักเสบแบบเรื้อรัง ซึ่งบางส่วนเซลล์ตับจะถูกบ่อนทำลายจนกลายเป็นมะเร็งเซลล์ตับในที่สุด
ผู้ ป่วยมะเร็งตับมักมีประวัติติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือซีมาตั้งแต่เล็ก (มักพบว่าติดจากแม่ขณะอยู่ในครรภ์) เมื่อย่างเข้าวัยกลางคน (50-60 ปี) ก็กลายเป็นมะเร็งตับมะเร็งชนิดนี้ยังพบได้บ่อยในผู้ที่ดื่มเหล้าจัด และ ผู้ป่วยตับแข็งนอกจากนี้ การกินอาหารที่ปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) จากเชื้อราเป็นประจำ เช่น ถั่วลิสงบด พริกแห้ง ข้าวโพด หัวหอม กระเทียม ข้าวกล้อง องุ่นแห้ง ปลาตากแห้ง มันสำปะหลัง แหนม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เป็นต้น ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งเซลล์ตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นตัวเสริมให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ใน ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี
2. มะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma/CCC)
หมาย ถึงมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่บุภายในท่อน้ำดี ส่วนที่อยู่ภายในตับ (biliary tree) พบได้บ่อยทางภาคอีสานและภาคเหนือ เกิดจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะติดเชื้อชนิดนี้โดยการกินปลาตามหนองบึง (เช่น ปลาแม่สะแด้ง ปลาตะเพียนทราย ปลาสร้อยนกเขา ปลาสูตร ปลากะมัง) แบบดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ พยาธิใบไม้ตับที่อยู่ในปลาเหล่านี้ก็จะเข้าไปฝังตัวอยู่ในท่อน้ำดี หากปล่อยไว้ไม่กินยาฆ่าพยาธินานๆ เข้า เซลล์ท่อน้ำดีก็จะกลายพันธุ์เป็นมะเร็งในที่สุด
นอกจากนี้ ยังพบว่าการกินสารไนโตรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารพิษในอาหารพวกโปรตีนหมัก (เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม) อาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินปะสิว (เช่น กุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเค็ม ปลาเค็ม) และอาหารรมควัน (เช่น ปลารมควัน ไส้กรอกรมควัน) เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งชนิดนี้อีกด้วย
อาการ
มะเร็ง ตับ ระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ (ยกเว้นรายที่เป็นตับแข็งอยู่ก่อน ก็จะมีอาการของโรคตับแข็ง) เมื่อก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้น จึงเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด จุกเสียดท้อง คล้ายอาการอาหารไม่ย่อย บางรายอาจมีอาการปวดหรือเสียวชายโครงขวาโดยไม่มีอาการอื่นๆ ชัดเจนก็ได้ อาการเหล่านี้มักแสดงอยู่เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยผู้ป่วยอาจไม่ได้ใส่ใจ หรือคิดว่าเป็นอาการปวดยอกชายโครง หรืออาหารไม่ย่อย
เมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้น ก็จะมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น รู้สึกแน่นอึดอัดที่บริเวณลิ้นปี่ทั้งวัน มีอาการปวดใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวไปที่ไหล่ขวาหรือใต้สะบักด้านขวา ผู้ป่วยจะเบื่ออาหารมากขึ้น และน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วจนคนใกล้ชิดรู้สึกผิดสังเกต
บางรายอาจมี อาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะ เหลืองเข้ม อาจคลำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา ท้องบวม หรือเท้าบวมทั้ง 2 ข้าง อาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย
รายที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดี (มักพบในโรคมะเร็งท่อน้ำดี) ผู้ป่วยจะมีอาการตาและตัวเหลืองจัด คันตามตัว อุจจาระสีซีด
รายที่มีภาวะตับแข็งระยะท้ายร่วมด้วย อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด
การแยกโรค
ผู้ ที่มีอาการอ่อนเพลีย และน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากมะเร็งที่อวัยวะอื่น เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร (มีอาการปวดท้องคล้ายโรคกระเพาะอาหาร) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (มีอาการท้องเดิน ท้องผูก หลังปวดท้องเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือด) มะเร็งปอด (มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากเบาหวาน (มีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย) คอพอกเป็นพิษ (เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก คอพอก) วัณโรคปอด (ไข้และไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด) โรคเอดส์ (ไข้เรื้อรัง ท้องเดินเรื้อรัง)
อาการ ตาเหลือง ตัวเหลือง ท้องบวม เท้าบวม อาจเกิดจากโรคตับแข็ง ซึ่งผู้ป่วยมักมีประวัติดื่มเหล้าจัดมานาน และมักตรวจพบอาการฝ่ามือแดง และมีจุดแดงๆ ขึ้นที่หน้าอก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ก็ควรจะไปพบแพทย์ เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่นๆ
การวินิจฉัย
เบื้อง ต้นแพทย์จะสงสัยโรคนี้จากอาการแสดงของผู้ป่วย (อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดชายโครงขวา) และตรวจพบว่าตับโตผิดปกติ และจะทำการตรวจพิเศษยืนยันว่าเป็นมะเร็งตับ โดยการตรวจเลือด (พบระดับของสารแอลฟาฟีโตโปรตีนในเลือดสูง) ตรวจพบก้อนมะเร็งตับจากการตรวจอัลตราซาวนด์ หรือถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ บางรายอาจจำเป็นต้องใช้เข็มเจาะเอาชิ้นเนื้อตับไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
การดูแลตนเอง
ผู้ ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด ตาเหลือง ตัวเหลือง หรือคลำได้ก้อนในท้อง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาแต่เนิ่นๆ
ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งตับจริง ก็ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง
ข้อ สำคัญ ทั้งผู้ป่วยและญาติจะต้องทำใจยอมรับความจริง และเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิต ส่งเสริมกำลังใจผู้ป่วย และสนับสนุนผู้ป่วยให้สามารถดำเนินชีวิตในช่วงสุดท้ายให้มีคุณค่าและมีความ สุขให้มากที่สุด
ทั้งผู้ป่วยและญาติจะต้องตั้งสติให้มั่น อย่าหลงเชื่อและลองวิธีรักษานอกคำแนะนำของแพทย์ที่ทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง มากๆ ทางที่ดีจะทำอะไรควรปรึกษาแพทย์หรือผู้รู้ที่สนิทและไว้ใจได้
การรักษา
ผู้ ป่วยส่วนใหญ่เมื่อมีอาการชัดเจนแล้ว มักจะเป็นมะเร็งระยะท้าย ซึ่งไม่อาจเยียวยาให้หายได้ แพทย์จะให้การบำบัดรักษา เช่น ผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด และวิธีอื่นๆ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและความทุกข์ทรมาน ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และยืดอายุให้ยืนยาวออกไปให้ได้มากที่สุด
ส่วนผู้ป่วยส่วนน้อยที่ตรวจพบ มะเร็งตับระยะแรก ก็จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด ปลูกถ่ายตับ เคมีบำบัด และวิธีอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้หายขาด หรือมีชีวิตยืนยาวได้
ภาวะแทรกซ้อน
มะเร็ง ตับอาจแพร่กระจายไปทั่วท้อง และอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หายใจลำบาก และอาการผิดปกติของอวัยวะที่มะเร็งแพร่ไปถึง เช่น ปวดกระดูกสันหลัง อาการผิดปกติทางสมอง เป็นต้น
ก้อนมะเร็งอาจมีการแตก ทำให้มีการตกเลือดในท้องเป็นอันตรายได้
ผู้ป่วยอาจมีอาการใจหวิวคล้ายเป็นลมจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากตับถูกทำลายจนไม่อาจผลิตน้ำตาลออกมาในกระแสเลือดได้
ราย ที่มีตับแข็งร่วมด้วย (โรคนี้มักพบคู่กับมะเร็งตับ) ระยะท้าย ก็มักจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด เลือดออกง่าย ภูมิต้านทานต่ำทำให้เป็นโรคติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย และท้ายที่สุดอาจเกิดภาวะตับวาย (ซึม เพ้อ ชัก หมดสติ)
การดำเนินโรค
ส่วน ใหญ่ที่ตรวจพบเมื่อมีอาการน้ำหนักลดอย่างมากแล้ว มักจะเป็นมะเร็งตับระยะท้าย หากปล่อยไว้ไม่รักษา ก็มักจะเสียชีวิตภายใน 6-12 เดือนโดยเฉลี่ย แต่ถ้าได้รับการดูแลรักษา มีกำลังใจดี ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ดี ก็อาจมีชีวิตที่มีคุณภาพ และยืนยาวเป็นปีๆ
รายที่ตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจหายขาด หรือมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาว
ความชุก
โรค นี้พบมากเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งที่เกิดในผู้ชาย และพบมากเป็นอันดับ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งรวมกันทั้ง 2 เพศ มักเกิดในคนอายุ 30-70 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า
การป้องกัน
มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้เป็นส่วนใหญ่ โดยการปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
1. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัส บี ซึ่งมักจะฉีดให้ทารกตั้งแต่แรกเกิด หรือในผู้ที่ตรวจไม่พบการติดเชื้อชนิดนี้
2. ไม่ดื่มเหล้าจัด อาจทำให้ตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับได้
3. ไม่กินปลาน้ำจืดแบบดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ
4. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารอะฟลาท็อกซิน (อาหารที่มีเชื้อราปนเปื้อน) สารพิษชนิดนี้มีความทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกก็ไม่ถูกทำลาย
5. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารไนโตรซามีน หรือกินเมื่อปรุงให้สุก (สารนี้ถูกทำลายด้วยความร้อน)
6. ผู้ที่ยังนิยมกินปลาน้ำจืดดิบๆ ควรตรวจพยาธิใบไม้ตับ ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ ควรกินยาฆ่าพยาธิให้หายขาด
7. ผู้ที่เป็นพาหะหรือโรคตับอักเสบเรื้อรังจาก ไวรัสบีหรือซี ควรงดดื่มเหล้าโดยเด็ดขาด และควรให้แพทย์ตรวจเลือดและตรวจหา มะเร็งตับระยะแรกทุก 6 เดือน หากพบจะได้ให้การรักษาให้หายขาดได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น