ไต เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วเหลือง ขนาดเท่ากำปั้น คนปกติมีไต 2 ข้างวางอยู่บริเวณกลางหลังข้างละ 1 อัน โดยตั้งอยู่บริเวณด้านหลังใต้ต่อกระดูกชายโครง บริเวณบั้นเอว ไตเปรียบเสมือนเครื่องกรองชนิดพิเศษที่มีความมหัศจรรย์และมีจำเป็นอย่างมาก ในการดำรงชีวิต แต่ละวันจะมีเลือดประมาณ 200 หน่วยกรองผ่านเนื้อไต ขับออกเป็นของเสียในรูปน้ำปัสสาวะ 2 หน่วย ลงสู่ท่อไตและกระเพาะปัสสาวะ เพื่อถ่ายปัสสาวะออกนอกร่างกาย ไตทำหน้าที่กลั่นกรองน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการ พร้อมกับทำการคัดหลั่งของเสียออกจากร่างกาย
หน้าที่ สำคัญของไต คือ การสร้างปัสสาวะซึ่งจะช่วยขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ และช่วยในการรักษาความปกติของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย นอกจากนั้นไตยังมีหน้าที่ในการสร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิต และสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้นเมื่อไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วย
ขับถ่ายของเสีย
ไต ทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีนออกจากร่าง กาย ของเสียประเภทนี้ ได้แก่ ยูเรีย ครีอะตินีน กรดยูริก และสารประกอบไนโตรเจนอื่นๆ อาหารประเภทโปรตีนมีมากในเนื้อสัตว์และอาหารจำพวกถั่ว ซึ่งหากของเสียจากอาหารประเภทโปรตีนเหล่านี้คั่งค้างอยู่ในร่างกายมากๆ จะทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะดังกล่าวว่า ยูรีเมีย (uremia) นอกจากนี้ไตยังทำหน้าที่กำจัดสารพิษ สารเคมี รวมทั้งขับถ่ายยาต่างๆออกจากร่างกายอีกด้วย
ยูเรีย
ยู เรียเป็นโปรตีนที่ถูกตัดหมู่ amino ออก (-NH2) แล้วเปลี่ยนเป็นยูเรีย ส่งไปกรองที่ไต กระบวนการเปลี่ยนให้เป็นยูเรียเกิดขึ้นที่ตับ ยูเรียมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานของหน่วยไต เรียกว่า countercurrent system ช่วยในการดูดซึมกลับของสารน้ำและเกลือแร่ที่อยู่ในหน่วยไต โปรตีน urea transporter 2 เป็นตัวขนถ่ายยูเรียเข้าสู่ท่อไตเพื่อขับออกทางปัสสาวะ ยูเรียในกระแสเลือดอยู่ในสภาพสารละลายประมาณ 2.5 - 7.5 มิลลิโมล/ลิตร เกือบทั้งหมดขับถ่ายทางปัสสาวะ มีเพียงส่วนน้อยที่ถูกขับถ่ายทางเหงื่อ
ครีอะตินีน
ครี อะตินีนเป็นสารที่เกิดจากการแตกสลายของ creatine phosphate ในกล้ามเนื้อ ร่างกายสร้างครีอะตินีนขึ้นในอัตราที่คงที่โดยอัตราการสร้างขึ้นกับมวลกล้าม เนื้อของแต่ละคน ไตทำหน้าที่กรองครีอะตินีน โดยไม่มีการดูดกลับ ดังนั้นถ้าการทำหน้าที่กรองของไตเสียไปโดยไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จะสามารถตรวจพบระดับของครีอะตินีนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
กรดยูริก
กรด ยูริกเกิดจากการเผาผลาญอาหารประเภทเนื้อสัตว์ สารพิวรีนในโปรตีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วแดง กระถิน ชะอม ใบขี้เหล็ก ผักตำลึง กระหล่ำดอก ผักบุ้ง ถั่วลิสง เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง กรดยูริกจะถูกขับออกมาทางไต ถ้าหน้าที่ของไตเสียไป ก็จะทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นได้เช่นกัน กรดยูริกเกิดจากการย่อยสลายสารพิวรีน ร่างกายจะย่อยพิวรีนจนกลายเป็นกรดยูริก และจะขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ในคนปกติกรดยูริกจะถูกสร้างขึ้นในอัตราช้าพอที่ไตจะขับออกได้หมดทันกับการ สร้างขึ้นพอดี
สมดุลของน้ำและเกลือแร่
ไต ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย น้ำและแร่ส่วนที่เกินควรจำเป็นจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ เกลือแร่ดังกล่าว เช่น โซเดียม โปตัสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส เป็นต้น ร่างกายมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ 70 ในเลือดมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 92 ในสมองมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 85 ถ้าพิจารณาในแต่ละเซลล์จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 60 จริงๆแล้วน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญและจำเป็นของเซลล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเซลพืช เซลล์สัตว์ และเซลล์มนุษย์ ทุกเซลล์ล้วนประกอบด้วยน้ำทั้งนั้น ในเซลล์มนุษย์และเซลล์สัตว์มีน้ำประมาณ 2 ใน 3 ของน้ำหนักร่างกาย ในพืชบกมีน้ำประมาณร้อยละ 50–75 ถ้าเป็นพืชน้ำอาจมีน้ำมากกว่าร้อยละ 95 โดยน้ำหนัก
ความดันโลหิต
ไต ทำหน้าที่สร้างสารเรนิน (renin) ช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ระดับคงที่ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆเพียงพอ ในภาวะความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงที่ไตโดยเฉลี่ยลดลง ทำให้ร่างกายกระตุ้นกระบวนการเรนิน-แองจิโอเทนซิน ซึ่งจะทำให้มีการหลั่งเรนินจากจักซตาโกลเมอรูลาร์ อัฟพาราตัส (juxtaglomerular apparatus) ในไต เรนินเป็นเอนไซม์ที่หลั่งจากไตเข้าไปในกระแสเลือด ทำหน้าที่เปลี่ยนแองจิโอเทนซิโนเจน ให้เป็นแองจิโอเทนซิน I หลังจากนั้นเอนไซม์แเองจิโอเทนซิน คอนเวอทติง (angiotensin converting enzyme : ACE) จะเปลี่ยนแองจิโอเทนซิน I ให้เป็นแองจิโอเทนซิน II ที่ปอด เมื่อสารน้ำในร่างกายต่ำกว่าปกติ ระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน จะไปกระตุ้นหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหดรัดตัว และกระตุ้นการหลั่งแอลโดสเตอโรนที่ต่อมหมวกไตส่วนนอก ทำให้เพิ่มปริมาณของโซเดียมและน้ำมากขึ้น ปริมาณเลือดจะเพิ่มขึ้น
การสร้างเม็ดเลือดแดง
ไต ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง มีชื่อเรียกว่า อีริโทโพอิติน (erythropoietin) หรือเรียกว่า อีโป (EPO) สารนี้ช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายมีปริมาณเลือดเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายอย่างเพียงพอ ป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง ไขกระดูกเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด โดยทั่วไปไขกระดูกจะอยู่ตามโพรงของกระดูกทุกชิ้น และมีปริมาณมากที่กระดูกเชิงกราน และกระดูกหน้าอก เม็ดเลือดแดงมีสารฮีโมโกลบิน ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เซลล์ทำงานได้ตามปรกติ
วิตามินดี
ไตทำหน้าที่ สร้าง active form ของวิตามินดี ซึ่งมีบทบาทควบคุมระดับเกลือแร่แคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย ช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง วิตามินดีมีความจำเป็นในการดูดซึมแคลเซียมไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ในบ้านเรามักจะไม่มีปัญหาการขาดวิตามีนดี เนื่องจากมีแสงแดดตลอดปี วิตามินดีมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ ควบคุมการขับถ่ายแคลเซียมออกจากไต และควบคุมการสะสมแคลเซียมบนกระดูก ร้อยละ 90 ของวิตามินดีในร่างกายมาจากการสร้างขึ้นของผิวหนังเมื่อทำปฏิกิริยากับรังสี อุลตราไวโอเลตชนิดบี
เมื่อไตทำงานบกพร่อง
1.เมื่อ ความบกพร่องเกิดขึ้นกับไต จนไตไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ในระยะแรก อาจพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง เช่น ตรวจพบเพียงโปรตีนไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ จากการตรวจสุขภาพประจำปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาจนไตเสื่อมหน้าที่มากขึ้น จะเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง
2.หากไตมีความบกพร่องมากๆ ผู้ป่วยอาจมีโรคโลหิตจาง หรือกระดูกผุ เป็นต้น หากไตไม่ทำงาน หรือทำงานไม่เพียงพอ เนื่องจากได้รับบาดเจ็บ หรือมีโรคแทรกจะทำให้ระดับของเสีย และปริมาณน้ำคั่งค้างในร่างกายหรือในเลือด จะปรากฏอาการเหล่านี้ คือ ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีเลือดในปัสสาวะ มีอาการบวมที่มือและเท้า ปวดหลังในระดับชายโครง ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่เกิดภาวะไตวายระยะสุดท้าย มีสาเหตุที่สำคัญมาจากเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ต้องรักษาโดยการล้างไต หรือผ่าตัดเปลี่ยนไต หากรักษาโรคทั้งสองนี้ได้ก็จะทำให้โรคไตที่เกิดขึ้นทุเลา หรือชะลอการเปลี่ยนแปลงได้
3.ภาวะไตวายเรื้อรังในระยะนี้ยังสามารถ แก้ไขให้ไตกลับคืนหน้าที่ได้หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ต่อเนื่องและเหมาะสม แต่หากปล่อยปละละเลยจนไตเสื่อมทุกหน้าที่อย่างสมบูรณ์และถาวร จนเกิดภาวะที่เรียกว่าไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
4.การรักษาด้วยวิธี การบำบัดทดแทนไต เช่น การฟอกเลือด การฟอกไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไตใหม่ให้ แม้ว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่ ก็ใช่ว่าไตนั้นจะใช้งานได้เหมือนอย่างไตของคนปกติ เพราะไม่ใช่ไตที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด ร่างกายต้องปรับตัวเข้ากับไตใหม่ ไตใหม่ที่ปลูกถ่ายมานี้ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานเฉลี่ยไม่เกินสิบปี และเมื่อการเปลี่ยนไตสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะต้องหลีกเหลี่ยงและระวังกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการ ติดเชื้อ เนื่องจากไตใหม่ที่ปลูกถ่ายใหม่นั้นถือเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกายที่ กระตุ้นให้ภูมิต้านทานของร่างกายออกมาทำหน้าที่ต่อต้าน จึงจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
ที่มา :
นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
http://www.bangkokhealth.com/index.php/2009-01-19-03-16-26/184-2009-01-19-08-22-55
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น