การตรวจปัสสาวะ ( Urinalysis )
ปัสสาวะเป็นสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการ และขับถ่ายออกมา แต่ในทางการแพทย์ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากมายในการช่วยวินิจฉัยและรักษา โรคได้ ทั้งนี้เพราะไตทำหน้าที่ขับของเสียออกจากเลือด ดังนั้นการตรวจปัสสาวะสามารถบอกหน้าที่ของไต และ การทำงานของระบบอื่น ในปัสสาวะมีสารเคมีมากมายที่ร่างกายขับออกมา ถ้านำมาตรวจหาชนิด และ ปริมาณที่ขับออกมาในแต่ละวัน จะสามารถบอกพยาธิสภาพบางโรคได้อย่างแม่นยำ
โดยอาศัยการตรวจทางฟิสิกส์ เคมี และ การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งในปัจจุบันมีความก้าวหน้า ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างมาก ทำให้สามารถช่วยด้านการแพทย์ได้ คือ
1. เป็นการตรวจคัดกรองโรคบางชนิด ( Screening test )
2. ช่วยในการวินิจฉัยโรคร่วมกับอาการและการตรวจอย่างอื่น
3. ช่วยในการแยกชนิดของโรคไต โรคทางเดินปัสสาวะ จากโรคอื่นๆ
4. มีประโยชน์ในการพยากรณ์โรค
5. ติดตามการดำเนินของโรค
ระบบขับถ่ายปัสสาวะ
ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ( Urinary system ) เป็นระบบที่ประกอบด้วยอวัยวะหลายอย่าง ทำหน้าที่ร่วมกันในการทำน้ำปัสสาวะ เก็บน้ำปัสสาวะชั่วคราว และ ขับน้ำปัสสาวะออกทิ้ง เพื่อเป็นการรักษาสภาวะสมดุลของสิ่งแวดล้อมภายในของร่างกาย
อวัยวะในระบบขับถ่ายปัสสาวะที่สำคัญ ได้แก่
1. ไต ( Kidneys ) เป็นอวัยวะสำคัญที่สุดของระบบนี้ มี 2 อัน รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วดำขนาด 10 x 5.5 เซนติเมตร อยู่บริเวณในช่องท้องสองข้างของกระดูกสันหลังระดับเอว ทำหน้าที่กรองสาร ดูดซับน้ำ ไอออน และสารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายกลับเข้าสู่กระแสเลือด และขับไอออน และสารอื่นๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการ หรือมากเกินพอ ออกจากร่างกาย เพื่อการปรับสมดุล ความเป็นกรด–ด่างของร่างกาย โดยไตจะขับปัสสาวะออกมาเรื่อยๆ ประมาณ 1 มิลลิลิตร/นาที สู่ท่อไตทั้งสองข้าง
2. ท่อไต ( Ureters ) เป็นท่อ 2 อัน ที่นำน้ำปัสสาวะออกมาจากไตไปสู่กระเพาะปัสสาวะ
3. กระเพาะปัสสาวะ ( Urinary bladder ) เป็นถุงที่เก็บสะสมนํ้าปัสสาวะ ผิวด้านในมีรอยย่นเรียก รูแก ซึ่งจะขยายออกได้ กระเพาะปัสสาวะปกติมีความจุได้ประมาณ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร เมื่อมีปัสสาวะประมาณ 210-300 มิลลิลิตร จะรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะเนื่องจากปัสสาวะไปกระตุ้นปลายประสาทที่ผนัง กระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะหดและบีบตัวเอาปัสสาวะออกมาทางท่อปัสสาวะ (urethra) เพื่อขับออกนอกร่างกาย ผู้ใหญ่ปรกติจะถ่ายปัสสาวะ 600-1600 มิลลิลิตร/วัน ในเด็กไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ เพราะระบบประสาทยังไม่สมบูรณ์
4. ท่อปัสสาวะ ( Urethra ) เป็นท่อที่นำปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะออกจากร่างกาย
ส่วนประกอบของปัสสาวะ มีดังนี้
ดร.ฟารอน นักชีวเคมีได้วิจัยสารต่างๆ ในปัสสาวะพบว่า 95% เป็นน้ำ 2.5 % เป็นยูเรีย อีก 2.5% เป็นสารอื่นๆ ถ้าแยกส่วนประกอบที่เป็นมิลลิกรัมออกมาในน้ำปัสสาวะ 100 ซีซี (ลูกบาศก์เซนติเมตร) จะพบว่ามี
ส่วนประกอบ | ปริมาณ (มิลลิกรัม) |
1. Urea Nitrogen | 682 |
2. Urea | 1,459 |
3. Creatinin Nitrogen | 36 |
4. Creatinin | 97 |
5. Uric acid nitrogen | 12.30 |
6. Uric acid | 36.90 |
7. Amino nitrogen | 9.70 |
8. Ammonia nit | 57 |
9. Sodium | 212 |
10. Potassium | 137 |
11. Calcium | 19.50 |
12. Magnesium | 11.30 |
13. Chloride | 314 |
14. Total sulphate | 91 |
15. Inorganic sulphate | 83 |
16. Inorganic phosphate | 127 |
นอกจากนี้ยังมีสารอื่นๆ อีก ดังนี้
1. เอนไซม์ ได้แก่
1.1 Amylase(diastase)
1.2 Lactic dyhydrogenate(LDH)
1.3 Leucine amino-peptdase(LAP)
1.4 Urokinase เป็นสารละลายลิ่มเลือด รักษาเส้นเลือดอุดตัน
2. ฮอร์โมน ได้แก่
2.1 Catecholamines
2.2 17-Catosteroids
2.3 Hydroxysteroids
2.4 Erytropoietine สารกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง
2.5 Adenylate cyclase ประสานการทำงานของฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกาย โดยผ่านการทำงานของสาร cyclic AMP
2.6 Prostaglandin เป็นสารประจำถิ่นในเนื้อเยื่อหลายชนิด ควบคุมการอักเสบ การรับรู้ความปวด การจับตัวของลิ่มเลือด ช่วยการทำงานของมดลูก
3. ฮอรโมนเพศ ช่วยสร้างความกระชุ่มกระชวย ผิวพรรณดี ลดรอยย่นและความหย่อนยานสร้างสุขภาพจิตที่ดี ลดคลอเรสเตอรอลในเลือด ป้องกันกระดูกผุ
4. อินซูลิน คนที่เป็นเบาหวานจะได้อินซูลินเข้าไปช่วยเสริมสร้างการเจริญอาหาร
5. ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) พบในปัสสาวะตอนเช้า สารนี้ช่วยให้จิตใจสงบ ลดความกระวนกระวาย หลับสบาย
ที่มา : http://www.icphysics.com/modules.php?name=News&file=article&sid=77
วิธีการเก็บปัสสาวะอย่างถูกวิธีเพื่อผลการตรวจที่ถูกต้อง
ชนิดของตัวอย่าง : ปัสสาวะที่เก็บครั้งเดียว
ภาชนะ : กระป๋องปัสสาวะเป็นถาชนะที่แห้งสะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อนต่างๆ มีปากกว้างและฝาปิดมิดชิด รวมทั้งเป็นภาชนะที่ใช้แล้วทิ้ง
สำหรับเพศหญิง
1. ผู้มีรอบเดือนให้เลื่อนการตรวจปัสสาวะ จนกว่ารอบเดือนจะหมด
2. ล้างมือให้สะอาด
3. ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้งด้วยกระดาษชำระ โดยต้องเช็ดจากส่วนบนลงไปส่วนล่าง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากช่องทวารหนัก หากต้องการถ่ายอุจจาระ ควรเก็บปัสสาวะก่อน
4. ให้ปัสสาวะทิ้งช่วงต้นไปเล็กน้อย เก็บปัสสาวะในช่วงถัดมาประมาณครึ่งกระป๋อง โดยห้ามสัมผัสด้านใน ของภาชนะ และ ปัสสาวะช่วงสุดท้ายไป
5. นำปัสสาวะมาส่งให้เจ้าหน้าที่โดยเร็วที่สุด
สำหรับเพศชาย
1. ล้างมือให้สะอาด
2. ร่นผิวหนังหุ้มปลายองคชาติ
3. ทำความสะอาดโดยเช็ดบริเวณรอบ ๆ ปลายองคชาติ ด้วยน้ำสะอาด และ เช็ดให้แห้งด้วยกระดาษชำระ
4. ให้ปัสสาวะทิ้งช่วงต้นไปเล็กน้อย เก็บปัสสาวะในช่วงถัดมาประมาณครึ่งกระป๋อง โดยห้ามสัมผัสด้านใน ของภาชนะ และ ปัสสาวะช่วงสุดท้ายไป
5. ระวังไม่ให้ปนเปื้อนอุจจาระ หากต้องการถ่ายอุจจาระ ควรเก็บปัสสาวะก่อน
6. นำปัสสาวะมาส่งให้เจ้าหน้าที่โดยเร็วที่สุด
วิธีการตรวจปัสสาวะ
การตรวจปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ แบ่งออกเป็น
1. การตรวจคุณสมบัติทางกายภาพ(Physical examination) ได้แก่ ตรวจหาปริมาตร สี กลิ่น ความขุ่น และ ความถ่วงจำเพาะ
2. การตรวจคุณสมบัติทางเคมี (Chemical examination) เป็นการตรวจความเป็นกรด-ด่าง และสารเคมีต่างเช่น โปรตีน กลูโคส คีโตน และยูโรบิริโนเจน เป็นต้น
3. การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic examination).เป็นอีกวิธีที่สำคัญมากในการวินิจฉัยโรค โดยการนำตะกอนปัสสาวะ มาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาดูเซลล์ต่างๆ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เซลล์เยื่อบุ และ ตรวจหาคาส์ท ซึ่งมีความสำคัญในการวินิจฉัยโรคไต การตรวจหาผลึกต่างๆ เช่น แคลเซียมออกซาเลต ยูริคแอซิด เป็นต้น การตรวจปัสสาวะด้วยกล้องจุลทรรศน์นั้นสามารถช่วย ในการ วินิจฉัยโรค เช่น การพบเม็ดเลือดแดง และ คาส์ท ออกมาย่อมชี้บ่งว่าน่าจะเป็นโรคไตเฉียบพลัน และ ยังมีประโยชน์ในการติดตามการรักษาโรคว่าดีขึ้นหรือเลวลง
รายงานการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ
1. การตรวจคุณสมบัติทางกายภาพ (Physical examination) ได้แก่
1.1 สี (Color) ค่าปกติ สี เหลืองอ่อนและใส ( Yellow Clear) แต่จะมีความอ่อน - แก่ของสีแตกต่างกันได้ตามความเข้มข้นของปัสสาวะ หากปัสสาวะที่ถ่ายออกมามีสีอื่น เช่น แดง น้ำตาล ฯลฯ อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อาหาร ยา สารสีต่าง ๆ หรือ ผลิตผลจากระบบเผาผลาญของร่างกาย การดูสีปัสสาวะจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ข้อแรกสำหรับโรคไต และภาวะผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหาร
- สีฟางข้าว (straw) ความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.010
- สีเหลืองอ่อน (pale yellow) มีความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.011 – 1.019
- สีอำพัน (amber) มีความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.020
ปัสสาวะที่มีสีผิดปกติ เช่น
- สีแดงใส เกิดจากภาวะที่ปัสสาวะมีสีของฮีโมโกลบินจากเม็ดเลือดแดงที่แตกแล้ว
- สีคล้ายนม เกิดจากภาวะที่ปัสสาวะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวมาก
- สีเหลืองอมน้ำตาล หรือเหลืองอมเขียว เนื่องจากมีน้ำดีในปัสสาวะ
1.2 ความขุ่น (Turbidity) ค่าปกติ ใส (clear) ปัสสาวะอาจจะขุ่นได้แต่ไม่พบสิ่งผิดปกติซึ่งอาจเกิดจากแบคทีเรียในปัสสาวะ ที่ตั้งทิ้งไว้ อาหารและยาบางชนิดที่รับประทาน เช่น amorphous ของฟอสเฟต ยูเรต และคาร์บอเนต เป็นต้น การรายงานความขุ่นนิยมรายงานเป็นใส ขุ่นเล็กน้อย หรือขุ่น ตั้งแต่น้อย (1+) ไปถึงขุ่นมาก (4+)
- ปัสสาวะขุ่นที่มีความผิดปกติ เช่น พบเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และ แบคทีเรียในผู้ที่มี การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ
1.3 ความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity) ค่าปกติ 1.003 – 1.030 เป็นการวัดความสามารถของไตในการควบคุมความเข้มข้นและส่วนประกอบของของเหลวใน ร่างกายให้คงที่ อาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าไป อุณหภูมิและการออกกำลังกาย
- ถ้าสูงเกินไป อาจจะเกิดจากร่างกายขาดน้ำ เช่น ดื่มน้ำน้อย ท้องร่วงรุนแรง และ ได้น้ำชดเชยน้อยเกินไปทำให้ขาดน้ำในกระแสเลือด ปัสสาวะจึงเข้มข้น
- ถ้าต่ำไป อาจจะเกิดจากการดื่มน้ำมากเกิน ร่างกายจึงกำจัดน้ำ ออกมาทางปัสสาวะมาก หรือ เป็นโรคที่ทำให้มีปัสสาวะออกมามากผิดปกติ เช่น โรคเบาจืด
2. การตรวจคุณสมบัติทางเคมี (Chemical examination) ได้แก่
2.1 ความเป็นกรด - ด่าง (pH) ค่าปกติ 4.6 - 8.0 เป็นการบอกความสามารถของไตในการควบคุมสมดุลกรด - ด่างของร่างกาย เปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการเผาผลาญอาหาร ชนิดของอาหาร โรค และ การใช้ยา ค่าความเป็นกรด และด่างของปัสสาวะมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาบางอย่าง และการตกตะกอนของสารบางอย่าง ในปัสสาวะทำให้เกิดนิ่วได้
- ปัสสาวะเป็นกรด พบในภาวะ อดอาหาร รับประทานโปรตีนมากไป การติดเชื้อ ยาบางชนิด
- ปัสสาวะเป็นด่าง พบในภาวะกินเจ ยาบางชนิด
2.2 โปรตีน (Protein) ค่าปกติ ไม่ มี (Negative) การตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะหมายถึงการที่มีโปรตีนมากกว่าปกติในปัสสาวะอาจเป็น เครื่องบ่งชี้ที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคที่มีพยาธิสภาพภายในไต ไตอักเสบเรื้อรังและเฉียบพลัน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ การสัมผัสสารโลหะหนักบางชนิด เช่น ปรอท แคดเมียม มีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อไต มีผลทำให้โปรตีนออกมาในปัสสาวะจำนวนมาก โรคเบาหวานที่เริ่มมีโรคแทรกซ้อน การตั้งครรภ์ระยะท้ายๆ มีไข้
- การตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะเป็นช่วงๆ ชั่วครั้ง ชั่วคราวนั้น มักจะเกิดจากภาวะการทำงานของร่างกายมากกว่าที่จะเป็นโรคไต เช่น มีการออกกำลังกายหักโหมเกินไป ยืนเดินนานๆ อยู่ในภาวะเครียดวิตกกังวล การเก็บปัสสาวะในขณะที่มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศในเพศชาย การเก็บปัสสาวะในขณะที่มีรอบเดือน เป็นต้น
- การรายงานผลจะรายงานเป็น Trace , 1+ , 2+ , 3+ และ 4+ หมายถึง พบโปรตีนในปริมาณน้อยๆ ไปจนถึงปริมาณมากตามลำดับ
2.3 น้ำตาล (Glucose) ค่าปกติ ไม่ มี (Negative) การตรวจพบกลูโคสในปัสสาวะจะสงสัยว่าอาจจะเป็นเบาหวาน ควรจะงดอาหารไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง แล้วเจาะเลือด ดูน้ำตาลในเลือดเพื่อยืนยันโรคเบาหวานต่อไป
- ถ้าตรวจพบกลูโคสในปัสสาวะ ในขณะที่ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ อาจเกิดจากหลอดเลือดฝอยในไตมีความสามารถในการดูดซึมกลูโคสกลับได้น้อยกว่า ปกติ กรณีที่พบกลูโคสในปัสสาวะได้ เช่น หลังรับประทานอาหารหนัก หรือ เกิดความกดดันทางอารมณ์
- การรายงานผลจะรายงานเป็น Trace , 1+ , 2+ , 3+ และ 4+ หมายถึง พบน้ำตาลในปริมาณน้อยๆ ไปจนถึงปริมาณมากตามลำดับ
2.4 คีโตน (Ketone)ค่าปกติ ไม่ มี (Negative) การตรวจพบสารคีโตนในปัสสาวะอาจพบว่าเกิดจากการจำกัดอาหารประเภท คาร์โบไฮเดรต ทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญอาหารประเภท ไขมันเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นพลังงาน จะพบได้ในโรคเบาหวาน หรือ มีการจำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เป็นต้น
2.5 เม็ดเลือด (Occult blood) ค่าปกติ ไม่ มี (Negative) ใช้ตรวจสารฮีโมโกลบินซึ่งมีอยู่ในเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ มักพบในภาวะไตอักเสบเฉียบพลัน เลือดคั่งในไต นิ่ว มะเร็งที่ไต วัณโรคที่ไต
2.6 บิลิรูบิน.(Bilirubin) ค่าปกติ ไม่ มี (Negative) การตรวจพบbilirubin ในปัสสาวะแสดงถึงโรคที่เกิดจากเซลล์ตับ หรือมีการ อุดตันของทางเดินน้ำดี การตรวจนี้จึงมีความสำคัญและจำเป็น ในการวินิจฉัยโรค
2.7 ยูโรบิลิโนเจน (Urobilinogen) ค่าปกติ ไม่ มี (Negative) โดยทั่วๆ ไปโรคใดที่ทำให้ bilirubin เพิ่มขึ้นจะทำให้ urobilinogen เพิ่มขึ้นด้วย โรคชนิดใดที่ทำให้ตับไม่สามารถกำจัด urobilinogen ได้ จะทำให้มี urobilinogen ในปัสสาวะเพิ่มขึ้น รวมทั้งในภาวะที่มีการทำลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น เช่น hemolytic anaemia เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการตรวจ urobilinogen ในปัสสาวะมีประโยชน์มากเพราะจะช่วยในการแยกชนิด โรคตับ, hemolytic disease, และ การอุดตันของท่อน้ำดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทำการตรวจเป็นระยะๆ จะติดตามการดำเนินของโรคและดูการตอบสนองต่อการรักษา
2.8 เลือด (Blood ) ค่าปกติ ไม่มี (Negative) การพบเลือดแสดงว่ามีเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่ว เนื้องอก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
2.9 ไนไตรท์ (Nitrite) ค่าปกติ ไม่ มี (Negative) ตรวจเพื่อใช้เป็นเครื่องบ่งชี้การอักเสบของทางเดินปัสสาวะเนื่องจาก แบคทีเรีย ดังนั้นจึงควรทำการตรวจภายใน 1 ชั่วโมง หลังเก็บปัสสาวะ
2.10 เม็ดเลือดขาว (Leukocytes) ค่าปกติ ไม่มี (Negative) การพบเม็ดเลือดขาวแสดงว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ
3. การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic examination).ได้แก่
3.1 เซลล์ (Cells) เซลล์ต่างๆ เหล่านี้ คือ
3.1.1 จุลชีพ (Microorganism) ค่าปกติ ไม่มี (Negative) ได้แก่
- แบคทีเรีย (Bacteria) เช่น Cocci , Bacilli
- เชื้อรา (Fungi) เช่น Yeast , Budding , Pseudo , Hyphae
- อสุจิ (Spermatozoa)
- พยาธิ (Parastie) เช่น Tirchomonas vaginalis , Enterobius vermicularis , E.histolytica , Shistosoma spp.
3.1.2 เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cells) ค่าปกติ ไม่มี (Negative) แสดงว่ามีเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ อาจจะจากอุบัติเหตุและมีประวัติบ่งชี้ว่า ได้รับการกระแทกตามทางเดินปัสสาวะ หรือมีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ หรือมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อบางครั้งก็ทำให้มีเม็ดเลือดแดงออกมาในปัสสาวะได้ แต่มักจะมีเม็ดเลือดขาวมากกว่า สาเหตุที่พบบ่อยสุด ที่ทำให้พบเม็ดเลือดแดงจำนวนมากในปัสสาวะ คือ นิ่ว
- ถ้ามีประจำเดือน ไม่ควรเก็บปัสสาวะตรวจ เพราะเลือดจากประจำเดือนจะลงไปปนกับปัสสาวะ ทำให้ พบเม็ดเลือดแดง จำนวนมากในปัสสาวะได้
3.1.3 เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells) ค่าปกติ ไม่มี (Negative) แสดงว่ามีการอักเสบติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือ กรวยไตอักเสบ
- ถ้าพบเม็ดเลือดขาวเล็กน้อย เช่น 1-2 Cell/ HDF อาจจะไม่สำคัญเท่าไรนัก อาจจะเกิดจากการเก็บปัสสาวะตรวจไม่ถูกวิธี แต่ถ้ามีการติดเชื้ออาจจะพบหลายสิบตัว หรือเป็นร้อยๆ ซึ่งจะรายงานว่า มีจำนวนมาก (Numerous)
3.1.4 เซลล์เยื่อบุทางเดินปัสสาวะในส่วนต่างๆ (Epithelial Cells) ค่าปกติ ไม่มีหรือมีน้อยมาก (Negative) อาจจะพบได้เมื่อมีการอักเสบหรือความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ
3.2 คาสท์ (Casts) ค่าปกติ ไม่มี (Negative) มีหลายชนิด ได้แก่
- Hyaline casts จะพบในคนที่ออกกำลังกาย มีไข้ และมีโปรตีนในปัสสาวะ ไม่ใช่ตัวบ่งบอกถึง ความผิดปกติของไต ชนิด intrinsic แต่บอกถึง ปัญหาทาง prerenal ซึ่งได้แก่ CHF ภาวะขาดน้ำเป็นต้น
- Cellular casts พบได้ในภาวะไตวายชนิด intrinsic
- Granular และ waxy casts พบประจำในภาวะ acute tubular necrosis
- Broad casts เป็นคาสท์ขนาดใหญ่ชนิดใดก็ได้ พบในภาวะไตวายแบบเฉียบพลัน หรือรุนแรงแบบเรื้อรัง
3.3 ผลึก (Crystal) ค่าปกติ ไม่มี (Negative) ผลึกในปัสสาวะปกติเกิดขึ้นได้เมื่อปัสสาวะเย็นลง ชนิดและปริมาณของผลึกต่างๆ ในปัสสาวะขึ้นกับ pH เช่น ในปัสสาวะที่เป็นกรด จะพบผลึกยูเรต ในปัสสาวะที่เป็นด่างจะพบผลึกฟอสเฟตและ จะพบผลึกทั้งสองชนิดนี้ในปัสสาวะปกติได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจจะมีรายงานผลึกของสารต่างๆ ที่ปนมากับปัสสาวะ เช่น Calcium Oxalate หรือ Urate Crystal ซึ่งสารเหล่านี้อาจจะตกตะกอนเป็นนิ่วต่อไปได้
3.4 อสัณฐาน (Amorphous) ค่าปกติ ไม่มี (Negative)
3.5 ตะกอนปัสสาวะชนิดอื่น (Misellaneous) ได้แก่ Mucous Threads , Cylindroid , Fat Droplets
ค่าผลการตรวจปัสสาวะ
รายการ | ค่าปกติ |
White Blood Cells (WBC, เม็ดเลือดขาว) | Negative |
Red Blood Cells (RBC, เม็ดเลือดแดง) | Negative |
Epithelial Cells (Epi, เซลเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ) | Negative |
Glucose (GLU, น้ำตาลในปัสสาวะ) | Negative |
Bilirubin (BIL, น้ำดี) | Negative |
Ketones (KET, ภาวะเป็นกรดในร่างกาย) | Negative |
Specific Gravity (SG, ความถ่วงจำเพาะ) | 1.003 – 1.030 |
Blood (BLD, เลือด) | Negative |
pH (ความเป็นกรด - ด่าง) | 4.6 - 8.0 |
Protein (PRO, โปรตีน) | Negative |
Urobilinogen(UBG, สารที่ได้จากน้ำดี) | 0.3-1.0 EU/dL |
Nitrite (NIT, ภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย) | Negative |
Leukocytes (LEU, เม็ดเลือดขาว) | Negative |
Color (COL, สี) | Yellow Clear |
ที่มา : www.cablephet.com และ www.bloggang.com , www.kkh.go.th/medicallab/urine.html , medinfo2.psu.ac.th/pathology/Education/MS/Index.htm , www.hic.co.th/Report_Health_UA1.htm และ www.icphysics.com/modules.php?name=News&file=article&sid=77
สีปัสสาวะบอกโรค
ปฏิกิริยาหรืออาการต่างๆ ที่ร่างกายแสดงออก เป็นเสมือนสัญญาณเตือนให้รู้ว่า ร่างกายกำลังเผชิญอยู่กับสิ่งผิดปกติอะไรสักอย่าง ฉะนั้นการสังเกตตัวเองอยู่เสมอก็เป็นวิธีการดูแลสุขภาพที่พึงกระทำ เพราะหากพบความผิดปกติใดๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ก็จะได้รับมือหรือแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที อะไรที่จะหนักก็จะได้บรรเทาเบาบางลง
สีของปัสสาวะก็อาจบอกให้รู้คร่าวๆ ได้ว่าร่างกายของเราปกติดีอยู่หรือไม่ ลองมาตรวจร่างกายตัวเองกันหน่อยดีไหม...เอาแบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก แค่ลองสังเกตสีปัสสาวะของตัวเองดู
ปัสสาวะออกมาเป็นสีอมแดง
หากปัสสาวะออกมาเป็นสีนี้ต้องลองนึกให้ออกว่าได้รับประทานอาหารอะไรที่เป็น สีทำนองนี้หรือเปล่า เช่น แบล็คเบอร์รี่หรือผักกาดม่วง แต่ถ้าแน่ใจว่าไม่ได้กินอะไรใกล้เคียงกับสีแดงเลย ก็อาจเป็นลางร้าย เพราะสีแดงนั้นอาจจะเป็นเลือดที่ขับออกมาจากไตหรือกระเพาะปัสสาวะอาจอักเสบ หรือไม่ก็อาจจะมีอะไรในร่างกายที่ฉีกขาดเป็นแน่ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาล
มองได้ 2 อย่างคือ อาจจะเกิดจากการรับประทานถั่วในปริมาณที่มาก หรือว่าอาจจะเป็นลิ่มเลือดที่ปนออกมาก็ได้ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ดีกว่า
ปัสสาวะออกเป็นสีเหลือง
ถ้าปัสสาวะออกเป็นสีเหลืองอ่อน เป็นไปได้ว่าวันนั้นร่างกายจะได้รับวิตามินบี 2 มากเกินความต้องการจนต้องขับออกมา แต่ถ้าเป็นสีเหลืองเข้มก็หมายความว่า คุณดื่มน้ำน้อยเกินไปแล้ว แต่ถ้ามั่นใจว่าดื่มน้ำเยอะแล้วแต่ทำไมปัสสาวะยังเป็นสีเหลืองเข้มอยู่ เหมือนเดิม ก็คงต้องรีบปรึกษาแพทย์เพราะอาจมีโรคไตแฝงมาแล้วก็ได้
ปัสสาวะมีสีขุ่น
ในผู้ที่ปัสสาวะสีขุ่นให้ลองดื่มน้ำส้มดูว่าหายหรือไม่ ถ้าไม่หาย อาจเนื่องมาจากติดเชื้อบางอย่างก็ได้ อาการอย่างนี้ควรปรึกษาแพทย์
ปัสสาวะมีสีส้ม
อาจเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาโพรีเดียมที่ใช้ในการรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ปัสสาวะเป็นสีน้ำเงิน
ถ้าปัสสาวะมีสีอย่างนี้ ไม่ต้องแปลกใจ โดยเฉพาะหากคุณทานยาแก้อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เพราะในยามีส่วนผสมของสารเมธีลีน และขับออกมาทางปัสสาวะ ปัสสาวะจึงมีสีออกฟ้าๆ
เข้าห้องน้ำคราวนี้ อย่าลืมสังเกตดูสีปัสสาวะ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ไม่ควรมองข้าม สังเกตตัวเองนิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นผลดีกับสุขภาพร่างกาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น