Clock


วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

การชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง

วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโรคอ้วน และภาวะทุพโภชนาการในผู้ใหญ่

ปัจจุบันในทางการแพทย์ ถือว่า ความอ้วน” เป็น โรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ความอ้วนเกิดจาก การมีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าปกติ จนมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคเบาหวาน, โรคถุงน้ำดี, โรคหลอดเลือดสมอง

โรคอ้วนที่มีผลร้ายต่อร่างกาย มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ โรคอ้วนทั้งตัว, โรคอ้วนลงพุง, และโรคอ้วนทั้งตัวร่วมกับโรคอ้วนลงพุง

1. โรคอ้วนทั้งตัว (Overall Obesity) จะมีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ ไขมันมิได้จำกัดอยู่ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งโดยเฉพาะ

เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินว่าเป็น ”โรคอ้วน”

แนะนำให้ใช้ การคำนวณดัชนีมวลร่างกาย (Body Mass Index : BMI)

ดัชนีมวลร่างกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) /ส่วนสูง (เมตร)

การวินิจฉัย “โรคอ้วนทั้งตัว” ที่แน่นอนที่สุด คือ การวัดปริมาณไขมันในร่างกายว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่เป็นเรื่องยุ่งยากเกินความจำเป็น ในทางปฏิบัติการใช้ ดัชนีมวลร่างกาย(BMI)”เป็น วิธีที่เหมาะสม โดยเหตุผลที่ว่า ดัชนีมวลร่างกายแปรตามส่วนสูงน้อย และจากการศึกษาพบว่าค่าของดัชนีมวลร่างกายจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณไขมัน จริงในร่างกาย และมีความสัมพันธ์กับอัตราการตาย โดยผู้ที่มีดัชนีมวลร่างกายมากหรือน้อยกว่าเกณฑ์จะมีอัตราการตายสูงกว่า ผู้ที่มีดัชนีมวลร่างกายปกติ

ค่าดัชนีมวลร่างกาย        ผล
20.0-25.0              ปกติ
ต่ำกว่า 20.0             น้ำหนักน้อยเกินควร
25.0 – 30.0            อ้วนเล็กน้อย 
สูงกว่า 30.0             เป็น โรคอ้วน   pic_a01

2. โรคอ้วนลงพุง (Visceral Obesity) กลุ่มนี้จะมีไขมันของอวัยวะภายใน ที่อยู่ในช่องท้องมากกว่าปกติ และอาจมีไขมันใต้ผิวหนังที่หน้าท้อง เพิ่มมากกว่าปกติด้วย

เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินว่าเป็น ”โรคอ้วนลงพุง”

pic_a02

จากการศึกษา พบว่า ผู้ที่มี ภาวะอ้วนลงพุง เกิดโรคหัวใจขาดเลือดสูงกว่า ผู้ที่มีไขมันสะสมมากบริเวณสะโพก และ/หรือ บริเวณต้นขา เนื่องจากไขมันในช่องท้องจะดักจับไขมันชนิดที่ดี (HDL) ทำให้ไขมันชนิดที่ดี (HDL) ในเลือดมีระดับต่ำลง เพราะฉะนั้นผู้ที่มีไขมันสะสมในบริเวณช่วงกลางของลำตัว จะมีระดับไขมันที่ดี (HDL) ต่ำกว่าผู้ที่มีไขมันสะสมบริเวณสะโพก ก้น และต้นขา มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าชาวอินเดียในเอเชียเป็นชาติที่มีอัตราเกิดโรคหัวใจขาด เลือดสูงสุด ทั้งๆ ที่เกือบครึ่งหนึ่งของชนกลุ่มนี้เป็นมังสวิรัติมาตลอดชีวิต

จากการศึกษา พบว่า เกิดขึ้นเนื่องจากชนกลุ่มนี้มีระดับ HDL-Cholesterol ต่ำ และมีไตรกลีเซอไรด์สูง ร่วมกับมีรูปร่างเป็นโรคอ้วนลงพุง ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของโรคอ้วนลงพุง ซึ่งมักจะมีภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง และมีไขมันที่ดีต่ำ (HDL ต่ำ)

3. โรคอ้วนทั้งตัวร่วมกับโรคอ้วนลงพุง (Combined Overall and Abdominal Obesity) เป็นผู้ที่มีทั้งไขมันทั้งตัวมากกว่าปกติ และมีไขมันในช่องท้องมากกว่าปกติร่วมกัน

ผลร้ายของโรคอ้วนที่มีต่อสุขภาพ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม

1. เกิดโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับความอ้วน เช่น โรคหัวใจขาดเลือด, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคเบาหวาน โรคถุงน้ำดี

2. มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ และการเผาผลาญทางชีวเคมีในร่างกาย (Metabolism) เซลล์ ไขมันทำหน้าที่เป็นเซลล์ของต่อมไร้ท่อได้ด้วย โดยสามารถสร้างฮอร์โมนได้ และยังเป็นเซลล์เป้าหมายของฮอร์โมนหลายชนิด ทำให้คนอ้วนมีระดับและการตอบสนองต่อฮอร์โมนผิดปกติ เช่น มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้น แต่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินมีระดับฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) ลดลง มีฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ลดลง เป็นต้น

3. ปัญหาสุขภาพที่อ่อนแอลงจากความอ้วน เช่น เกิดโรคข้อเสื่อม มีการหายใจผิดปกติ มีความต้านของระบบทางเดินหายใจส่วนบนเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มมีระดับกรดยูริคในเลือดสูง เป็นต้น

4. ปัญหาทางสังคม และจิตใจ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในบางคน

มาตรการที่เสนอแนะ

แนะนำให้ตรวจวัดส่วนสูง และชั่งน้ำหนักเป็นระยะๆ ในบุคคลทุกคน เพื่อนำมาใช้คำนวณดัชนีมวลร่างกายควบกับการวัดสัดส่วนเส้นรอบวง-(เอว) ต่อเส้นรอบวง-(สะโพก) และประเมินโรคหรือภาวะทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

เมื่อตรวจพบว่า บุคคลใดอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นโรคอ้วนก็ควรต้องให้การรักษา โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ

1. ลดน้ำหนัก โดยควรให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเดิม

2. ต้องมีมาตรการในการรักษาน้ำหนักตัวที่ลดแล้ว ให้คงอยู่ได้ตลอดไป

3. ตรวจสอบดูแลรักษาป้องกัน โรคต่างๆ ที่เกิดร่วมกับความอ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ภาวะระดับไขมันในเลือดผิดปกติ เป็นต้น

การบำบัดโรคอ้วน

การที่มนุษย์จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงย่อมขึ้นอยู่กับดุลยภาพของ พลังงาน ซึ่งมาจากความสมดุลของพลังงานที่ได้จากการบริโภค และพลังงานที่ร่างกายนำไปใช้

พลังงานที่บริโภค ขึ้นกับปริมาณพลังงานที่บริโภคทั้งหมด และขึ้นกับสัดส่วนของพลังงานที่ได้รับนั้นมาจากอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต(แป้ง) อย่างละเท่าใด

พลังงานที่ร่างกายนำไปใช้ จะประกอบด้วยอัตราฐานของการเผาผลาญในร่างกาย และพลังงานที่ใช้ไปกับการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การทำงาน การเล่นกีฬา

เพราะฉะนั้น แนวทางการปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคอ้วน จึงต้องมีการบริโภคอาหารที่เหมาะสม และมีการเพิ่มระดับการเคลื่อนไหวร่างกายที่มากเพียงพอ

แนวทางการบริโภคอาหาร เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว

1. การบริโภคอาหารที่ให้พลังงานแต่พอควร ถ้าการบริโภคมากเกินกว่าพลังงานที่ร่างกายนำไปใช้ ก็จะเกิดการสะสมของไขมันในร่างกายจนเกิดเป็นโรคอ้วนในที่สุด แต่ก็ไม่ควรจำกัดมากจนเกินควร การจำกัดอาหารให้น้ำหนักตัวลดลงประมาณสัปดาห์ละ 0.25-0.5 กิโลกรัม จัดว่าเหมาะสมและปลอดภัย

2. การบริโภคไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานที่ได้รับ

ไขมันเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงกว่าอาหารอื่นๆ และเป็นอาหารที่ยับยั้งความรู้สึกหิวได้ต่ำ ดังนั้นการบริโภคไขมันมากจึงเป็นบ่อนทำลายการควบคุมน้ำหนักตัว

ในทางปฏิบัติกระทำได้ โดยหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันหมู, น้ำมันมะพร้าว, กะทิ, หมูสามชั้น, เนยเหลว, ครีม, ไส้กรอก, หมูยอ, เนื้อติดมัน ของทอด เช่น ปาท่องโก๋, กล้วยแขก, ทอดมัน เป็นต้น

3. การบริโภคโปรตีน ประมาณร้อยละ 15-20 ของพลังงานที่ได้รับ

อาหารโปรตีนมีพลังงานต่ำกว่าไขมัน และมีความสามารถในการยับยั้งยุติความรู้สึกหิวได้ดี และร่างกายจะถ่ายโอนโปรตีนที่บริโภคเกินเป็นสารอื่นได้ดี มีการสะสมโปรตีนต่ำ เพราะฉะนั้นอาหารโปรตีนมีผลดีต่อการควบคุมน้ำหนักตัวได้ดี แต่การบริโภคมากเกินควร จะมีผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน

ในทางปฏิบัติ ควรบริโภคเนื้อสัตว์ ชนิดที่ไม่มีไขมันมาก เช่น เนื้อปลา, เนื้อไก่เอาหนังออก, ถั่วเหลือง, นมไขมันต่ำ, ไข่ไก่ (ไม่ควรเกินวันละ 1 ฟอง)

4. การบริโภคคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 50-55 ของพลังงาน

คาร์โบไฮเดรต ก็คือ อาหารจำพวก ข้าว แป้ง ของหวาน เป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำกว่าไขมัน และยับยั้งความรู้สึกหิวได้ดี ร่างกายมีขีดความสามารถสูงในการใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงาน แต่ถ้าได้รับมากเกิน ประมาณร้อยละ 80 ของพลังงานที่บริโภคเกินจะถูกสะสมไว้ในร่างกายในรูปของไขมัน

นอกจากปริมาณแล้ว ยังต้องคำนึงถึงชนิดของคาร์โบไฮเดรตที่บริโภคด้วย โดยในทางปฏิบัติให้บริโภคข้าว (ข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง) เป็นหลัก เพราะข้าวเป็นสารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งเป็นแหล่งให้ใยอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และรสหวาน ในผู้ที่ติดรสหวานเลิกไม่ได้ อาจต้องใช้สารที่มีรสหวาน และให้พลังงานน้อยแทนน้ำตาล เช่น แอสปาร์เทม (Aspartame)

5. การงด หรือการลดการดื่มแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์ไม่ใช่สารอาหาร แต่เป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง ร่างกายจะให้ลำดับการนำแอลกอฮอล์มาใช้เป็นพลังงานก่อนสารอาหารปกติ ดังนั้นการบริโภคแอลกอฮอล์จะมีผลให้พลังงานแก่ร่างกายไปส่วนหนึ่ง และมีผลทำให้ร่างกาย ใช้พลังงานจากสารอาหารน้อยลง และทำให้สารอาหารถูกสะสมเป็นไขมันในร่างกายมากขึ้น

6. การบริโภคผัก และผลไม้เป็นประจำ

ผัก และผลไม้ นอกจากให้วิตามิน และเกลือแร่แล้ว ยังเป็นใยอาหารซึ่งทำให้ลดความหิว และลดการบริโภคพลังงานลง อย่างไรก็ตามควรบริโภคผลไม้ที่ไม่หวานจัด เป็นหลัก

ใยอาหาร เป็นสารที่พบในผัก และผลไม้ ซึ่งลำไส้ของมนุษย์จะไม่สามารถย่อยสลายได้ ดังนั้นใยอาหารจึงไม่เพิ่มจำนวนพลังงาน และมีบทบาทสำคัญในการทำให้การขับถ่ายอุจจาระเป็นปกติ

โดย นพ. วิชัย จตุรพิตร ผู้อำนวยการ ศูนย์แพทย์อาชีวะเวชศาสตร์กรุงเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา