บทความเรื่อง กฎหมายปกครองกับวิชาชีพเทคนิคการแพทย์
ตอน: พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ กับวิชาชีพเทคนิคการแพทย์
โดย นายบพิธ สรสิทธิ์ นักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสกลนคร วท.บ. (เทคนิคการแพทย์), นิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.), นิติศาสตรมหาบัณฑิต (น.ม.), เนติบัณฑิตไทย (นบ.ท.)
ผม เขียนบทความนี้ก็ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และบุคคลผู้เกี่ยวข้องได้ตระหนักในบทบาท ความรับผิดชอบ สิทธิและหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายปกครองบัญญัติไว้ รวมถึงกฎหมายปกครองบางฉบับก็มีความเกี่ยวพันและอาจนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหา แก่วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ได้ ดังนั้นผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ได้อ่านบทความนี้จะได้รับประโยชน์ใน ด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายปกครองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ เทคนิคการแพทย์เพิ่มขึ้นบ้างตามสมควร
ก่อน อื่นเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ผมจึงขอกล่าวถึงความหมายของคำก่อนนะครับ คำว่า “วิชาชีพเทคนิคการแพทย์” เป็นคำที่มีนิยามไว้ในพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๔๗ แล้ว ผมจึงขอไม่กล่าวในที่นี้อีก ส่วนคำว่า “กฎหมายปกครอง” ในบทความนี้จะหมายถึง กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจแก่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการกระทำการใดๆ เพื่อให้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์แห่งกฎหมายปกครองฉบับนั้นๆ ซึ่งการใช้อำนาจตามกฎหมายปกครอง หรือการกระทำทางปกครองดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของ บุคคลผู้เกี่ยวข้อง
ในบทความนี้กฎหมายปกครองที่ผมจะกล่าวถึงได้แก่ พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๔๗ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ พระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ก็ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และบุคคลผู้เกี่ยวข้องได้ตระหนักในบทบาท ความรับผิดชอบ สิทธิและหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายปกครองบัญญัติไว้
ในตอนแรกของบทความนี้ผมขอให้ท่านผู้อ่านทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า
๑. สภา เทคนิคการแพทย์ เป็นองค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพ จึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่ง พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ และมาตรา ๔ แห่ง พรบ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ และเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครอง จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่ง พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ
๒. ผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้หน่วยงานของรัฐ เป็นเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔ แห่ง พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ และมาตรา ๔ แห่ง พรบ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่ง พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ
๓. การกระทำในทางปกครองของสภาเทคนิคการแพทย์ได้แก่เป็นการออกกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง เช่นการออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ ซึ่ง ส่งผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้เกี่ยวข้อง
๔. บุคคลผู้เกี่ยวข้อง หมายถึงบุคคลผู้ที่อยู่ในบังคับของกฎ หรือคำสั่งทางปกครองของสภาเทคนิคการแพทย์
ก่อนจะว่าถึงเรื่องอื่นต่อไป เราต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า “การกระทำทางปกครองของสภาเทคนิคการแพทย์” เสียก่อน การกระทำทางปกครองก็คือการที่สภาเทคนิคการแพทย์ใช้อำนาจตามมาตรา ๘ แห่ง พรบ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๔๗ มีมติ หรือออกประกาศที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของบุคคลใดบุคคล หนึ่งโดยเฉพาะ เช่นออกคำสั่งตามมาตรา ๔๒ วรรคสี่ แห่ง พรบ.เดียวกัน รับรองหลักสูตรของสถานศึกษา ประกาศผลการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ เป็นต้น ซึ่งการกระทำทางปกครองเช่นนี้เป็น “คำสั่งทางปกครอง” ตามมาตรา ๕ แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ นอก จากนี้คณะกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ยังอาจใช้อำนาจตามมาตรา ๒๓ (๔) แห่ง พรบ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ออกระเบียบ ข้อบังคับที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของบุคคลทั่วไปไม่เจาะจง บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเช่นข้อบังคับวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ว่าด้วยการ เลือก การเลือกตั้งกรรมการฯ ข้อจำกัด เงื่อนไขการประกอบวิชาชีพ เป็นต้น ซึ่งการกระทำทางปกครองเช่นนี้เป็น “กฎ” ตามมาตรา ๕ แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่ ยังมีการกระทำทางปกครองที่ไม่เป็นทั้งคำสั่งทางปกครองและไม่เป็นกฎ เพราะเป็นคำสั่งทางปกครองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งเรียกกัน ว่า “คำสั่งทางปกครองทั่วไป” เช่น ประกาศสภาเทคนิคการแพทย์ว่าด้วยการรับสมัครสอบและการสอบขึ้นทะเบียนผู้ ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ หรือประกาศสภาเทคนิคการแพทย์ว่าด้วยการเลือกตั้งกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ฯ เป็นต้น
บุคคลใดที่ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหาย หรืออาจเดือดร้อนหรือเสียหายจาก “คำสั่งทางปกครอง” หรือ “กฎ” ดังที่ได้กล่าวมา จึงอาจอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งหรือผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ และมีสิทธิฟ้องสภาเทคนิคการแพทย์หรือคณะกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ ต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่ง หรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายได้ ตามมาตรา ๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) หรือ (๓) ประกอบมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) หรือ (๓) แห่ง พรบ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้
บทความนี้ตอนที่สองนี้ตั้งใจว่าจะว่าถึง พรบ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่ก็จำเป็นต้องกล่าวถึง “กฎ” และ “คำสั่งทางปกครอง” และ “ผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง” ก่อน เพราะเป็นส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายปกครองจึงต้องเอามาทำ ความเข้าใจกันก่อน ต่อไปก็มาว่าถึงเรื่องข้อมูลข่าวสารกัน
ก่อน ปี ๒๕๔๐ การถือปฏิบัติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการมีหลักทั่วไปคือปกปิด การเปิดเผยเป็นข้อยกเว้น แต่หลังจากมี พรบ.ข้อมูลข่าวสารราชการฯ บังคับใช้ การถือปฏิบัติดังกล่าวก็กลับกันกล่าวคือ หลักทั่วไปคือเปิดเผย ส่วนการปกปิดเป็นข้อยกเว้น ดังนั้นบทบาท สิทธิและหน้าที่ของสภาเทคนิคการแพทย์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ราชการก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นกรณีประกาศผลการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการ แพทย์ ผู้ที่เข้าสอบมีสิทธิที่จะ ขอดูคะแนนของตนเองและของผู้อื่นได้หรือไม่ อย่างไร ถ้าเราเป็นเจ้าหน้าที่ของสภาเทคนิคการแพทย์ ก่อนเราจะตัดสินใจว่าจะให้ผู้ขอนั้นดูคะแนนของตนเองได้หรือไม่ และจะให้ผู้ขอนั้นดูคะแนนของผู้เข้าสอบคนอื่นได้หรือไม่ เรามาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนนะครับ
แม้ผลการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์จะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาเทคนิคการแพทย์ จึงเป็น “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” ก็ตาม แต่เห็นว่าคะแนนของแต่ละคนเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวบุคคล จึงเป็น “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล” ตามมาตรา ๔ แห่ง พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ และประกาศผลการสอบฯดังกล่าวเป็นคำสั่งทาง ปกครอง แม้ในประกาศผลการสอบฯดังกล่าวจะปรากฏรายชื่อเฉพาะผู้ที่สอบผ่านแต่ก็มีความ หมายว่าผู้ที่เข้าสอบและไม่มีรายชื่อในประกาศก็เป็นผู้ที่สอบไม่ผ่านอัน เนื่องมาจากทำคะแนนได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งผู้เข้าสอบแต่ละคนย่อมมีสิทธิที่จะรับรู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เกี่ยวกับตนได้ โดยการทำคำขอเป็นหนังสือถึงสภาเทคนิคการแพทย์ อันเป็นสิทธิตามมาตรา ๒๕ แห่ง พร บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่ตามมาตรา ๒๔ แห่ง พรบ.เดียวกัน สภาเทคนิคการแพทย์จะเปิดเผยคะแนนของผู้เข้าสอบรายอื่นโดยปราศจากความยินยอม เป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การจัดให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนรับรู้ถึงคะแนนของตนโดย ที่เจ้าตัวไม่ต้องร้องขอเป็นสิ่งที่สภาเทคนิคการแพทย์สมควรกระทำ อีกทั้งวิธีการให้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวหากใช้การส่งจดหมายทางไปรษณีย์เป็น รายบุคคลนั้น เห็นว่าล้าสมัยตกยุคไปแล้ว วิธีการที่ควรจะใช้คือการสร้างไฟล์อิเล็คทรอนิคส์ไว้ที่เวปเพจของสภาเทคนิค การแพทย์ ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลคะแนนของแต่ละคนได้โดยการใช้ชื่อผู้ใช้ซึ่งอาจเป็น ชื่อตัวหรืออาจใช้หมายเลขประจำตัวประชาชน ส่วน รหัสก็อาจใช้เลขที่ประจำตัวสอบในครั้งนั้นๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นความชัดเจนในทางปฏิบัติตามที่มาตรา ๑๖ แห่ง พรบ.เดียวกันบัญญัติไว้อีกด้วย
อีก กรณีหนึ่งคือการเข้าถึงข้อมูลการประกาศผลการประเมินเพื่อรับรองหลัก สูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคนิคการแพทย์และรับรองสถาบันการศึกษา อันเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๘ (๓) แห่ง พรบ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของสถาบันการศึกษาและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประกาศผลการประเมินฯดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง แน่นอนว่าสถาบันการศึกษาที่ขอรับการประเมินย่อมได้รับแจ้งผลการประเมินเพราะ เป็นคู่กรณี ซึ่งเห็นว่ารายละเอียดคะแนนแต่ละหัวข้ออาจเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล แต่ผลการประเมินฯดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการ และยังเห็นว่าการจัดให้มีข้อมูลข่าวสารที่แสดงให้ประชาชนได้รับรู้ว่าคณะ เทคนิคการแพทย์ของสถาบันการศึกษาใดบ้างที่ผ่านการรับรองหลักสูตรแล้ว และสถาบันการศึกษาใดอยู่ในระหว่างการขอรับการประเมินฯ เป็น ข้อมูลข่าวสารที่สภาเทคนิคการแพทย์มีหน้าที่ต้องจัดให้มี จัดไว้ให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ตามมาตรา ๙ (๑) แห่ง พรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ เนื่องจากเป็นผลการพิจารณาที่มีผลโดยตรงต่อเอกชนหรือประชาชนในการใช้ข้อมูล ข่าวสารดังกล่าวประกอบการตัดสินใจเลือกที่จะเข้าศึกษาในคณะเทคนิคการแพทย์ ของสถาบันการศึกษาที่ผ่านการรับรองหลักสูตรแล้ว หรือในสถาบันการศึกษาที่อยู่ในระหว่างการขอรับการประเมินฯ การ ที่จะอ้างว่าผู้ใดต้องการทราบข้อมูลข่าวสารในเรื่องใดย่อมสามารถติดต่อสอบ ถามจากสภาเทคนิคการแพทย์ได้เอง จึงอาจเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสม
ดัง นั้นจึงเห็นว่าสภาเทคนิคการแพทย์ควรต้องทบทวนการจัดการข้อมูลข่าวสารของ ราชการที่อยู่ในครอบครองหรือควบคุมดูแลของตนใหม่ทั้งระบบ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชน นักศึกษาและผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ทั้งมวล
ในตอนต่อไปผมจะว่าด้วย พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ กับวิชาชีพเทคนิคการแพทย์นะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น