Clock


วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

เอดส์ - โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

วันที่ 1 ธันวาคมเป็น "วันเอดส์โลก" ฉบับนี้จึงขอว่าด้วยโรคเอดส์

เอดส์ เป็น โรคอุบัติใหม่ มีรายงานผู้ป่วยครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ.2524 และมีรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2527 ในช่วง 10-15 ปีแรกของการระบาด เนื่องจากไม่มียารักษา ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตประมาณ 2-3 ปีหลังการวินิจฉัย จนได้ชื่อว่า "โรคห่ายุคใหม่" คาดประมาณว่า มีคนไทยติดโรคนี้กว่า 1 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 500,000 ราย

หลัง จากมีการใช้ยาต้านไวรัสรักษาโรคเอดส์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พบว่าสามารถลดอัตราตายลงได้อย่างมากและลดความรุนแรงของโรคลงได้อย่างมี ประสิทธิผลยิ่ง ทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพแข็งแรง และดำเนินชีวิตได้เช่นคนปกติทั่วไป ในปัจจุบันจึงถือว่าเอดส์เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่สามารถให้ยาควบคุมจนมี คุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุยืนยาวเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ

* ชื่อภาษาไทย

เอดส์ กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง


* ชื่อภาษาอังกฤษ

AIDS, Acquired immune deficiency syndrome, Acquired immunodeficiency syndrome


* สาเหตุ

เกิด จากเชื้อเอชไอวี (มี 2 ชนิด ได้แก่ HIV-1 และ HIV-2 การระบาดทั่วโลกส่วนใหญ่ รวมทั้งประเทศไทยเกิดจาก HIV-1 ซึ่งยังแบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ได้อีกหลายชนิด ส่วน HIV-2 พบระบาดในแอฟริกา) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดใหม่ เพิ่งมีการเพาะเลี้ยงแยกเชื้อได้ในปี พ.ศ.2526 เชื้อนี้มีมากในเลือด น้ำอสุจิ และน้ำเมือกในช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ จึงสามารถแพร่เชื้อได้โดย
1. ทางเพศสัมพันธ์ ทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน (ในชายรักร่วมเพศ หรือเกย์)

2. ทางเลือด เช่น การได้รับการถ่ายเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะที่มีเชื้อ การแปดเปื้อนผลิตภัณฑ์จากเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น
ส่วน การใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน เป็นต้น) ร่วมกับผู้ติดเชื้อ การสัก การเจาะหู อาจมีโอกาสแปดเปื้อนเลือดที่มีเชื้อได้ แต่จะมีโอกาสติดโรคได้ก็ต่อเมื่อมีแผลเปิด และปริมาณเลือดหรือน้ำเหลืองที่เข้าไปในร่างกายมีจำนวนมากพอ

3. การติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อสู่ทารก ตั้งแต่ระยะอยู่ในครรภ์ ระยะคลอด และระยะเลี้ยงดูหลังคลอด โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อจากมารดาประมาณร้อยละ 20-50

จากการศึกษาในประเทศต่างๆ เท่าที่ผ่านมาไม่พบว่ามีการติดต่อโดย
* การหายใจ ไอ จามรดกัน
* การกินอาหาร และดื่มน้ำร่วมกัน
* การว่ายน้ำในสระ หรือเล่นกีฬาร่วมกัน
* การใช้ห้องน้ำร่วมกัน
* การอยู่ในห้องเรียน ห้องทำงาน ยานพาหนะ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
* การสัมผัส โอบกอด
* การใช้ครัว ภาชนะเครื่องครัว จาน แก้ว หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน
* การใช้โทรศัพท์ร่วมกัน
* การถูกยุงหรือแมลงกัด
เชื้อ เอชไอวีเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ก็จะมีการเพิ่มจำนวน สามารถแยกเชื้อไวรัสหรือตรวจพบสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน) ได้หลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์ และจะตรวจพบสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ได้หลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์ ผู้ที่ตรวจพบสารภูมิต้านทานในเลือดร้อยละ 90 จะมีเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด ซึ่งสามารถแพร่โรคให้ผู้อื่นได้ แม้จะไม่มีอาการอะไรเลยก็ตาม


* อาการ

เนื่อง จากผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแตกต่างกันไป สุดแล้วแต่จำนวนของเชื้อและระดับภูมิคุ้มกัน (จำนวน CD4) ของร่างกาย ดังนั้นโรคนี้จึงสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกันดังนี้

1. ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อเอชไอวี (primary HIV infection หรือ acute retroviral syndrome) ระยะนี้นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเอชไอวี จนกระทั่งร่างกายเริ่มสร้างสารภูมิต้านทาน กินเวลาประมาณ 1-6 สัปดาห์หลังติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ 1-2 สัปดาห์ (บางรายเพียง 2-3 วัน บางรายอาจนานถึง 10 สัปดาห์) แล้วหายไปได้เอง เนื่องจากอาการคล้ายกับไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่หรือไข้ทั่วๆ ไป ผู้ป่วยอาจซื้อยารักษาเอง หรือเมื่อไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด นอกจากนี้บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น ดังนั้น ผู้ติดเชื้อจึงมักไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ในระยะนี้

ผู้ติดเชื้อ บางรายอาจมีอาการรุนแรง มีอาการสมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการอยู่นานหรือรุนแรง มักดำเนินโรคเข้าสู่ระยะเอดส์เต็มขั้นภายในเวลาสั้นๆ ถ้ามีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ก็อาจเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้

2. ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยอยู่ชั่วขณะดังกล่าวมักจะแข็ง แรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่การตรวจเลือดจะพบเชื้อเอชไอวีและสารภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้และสามารถ แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (carrier)

ระยะ นี้แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่เชื้อเอชไอวีจะแบ่งตัวเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ และทำลาย CD4 จนมีจำนวนลดลง โดยเฉลี่ยประมาณปีละ 50-75 เซลล์/ลบ.มม. จากระดับปกติ (คือ 600-1,000 เซลล์) เมื่อลดต่ำลงมากๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้อัตราการลดลงของ CD4 จะเร็วช้าขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อเอชไอวี และสภาพความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

ระยะนี้มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี บางรายอาจสั้นเพียง 2-3 เดือน แต่บางรายอาจนานกว่า 10-15 ปีขึ้นไป


3. ระยะติดเชื้อที่มีอาการ
เดิมเรียกว่า ระยะที่มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (AIDS related complex/ARC) ผู้ป่วยจะมีอาการมากน้อยขึ้นกับจำนวน CD4 ดังนี้

ก. อาการเล็กน้อย ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้
* ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย
* โรคเชื้อราที่เล็บ
* แผลแอฟทัส
* ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก ริมฝีปาก
* ฝ้าขาวข้างลิ้น (hairy leukoplakia) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus/EBV) มีลักษณะเป็นฝ้าขาวที่ด้านข้างของลิ้น ซึ่งขูดไม่ออก
* โรคโซริอาซิส (สะเก็ดเงิน) ที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ

ข. อาการปานกลาง ระยะ นี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุช่องปากแบบข้อ ก. หรือไม่ก็ได้ อาการที่อาจพบได้มีดังนี้
* เริมที่ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ ซึ่งกำเริบบ่อย และเป็นแผลเรื้อรัง
* งูสวัด ที่มีอาการกำเริบอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือขึ้นพร้อมกันมากกว่า 2 แห่ง
* โรคเชื้อราในช่องปาก หรือช่องคลอด
* ท้องเดินบ่อย หรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน
* ไข้เกิน 37.8 องศาเซลเซียส แบบเป็นๆ หายๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน
* ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 แห่งในบริเวณไม่ติดต่อกัน (เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ) นานเกิน 3 เดือน
* น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
* ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
* ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
* ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นซ้ำบ่อย

4. ระยะป่วยเป็นเอดส์ (เอดส์เต็มขั้น) ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจ CD4 จะพบมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว วัณโรค เป็นต้น ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้า เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infections) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยาก และอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำอย่างเดียวหรือติดเชื้อชนิดใหม่ หรือติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน

ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้
* เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
* ไข้ หนาวสั่น หรือไข้สูงเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน
* ไอเรื้อรัง หรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอด หรือปอดอักเสบ
* ท้องเดินเรื้อรัง จากเชื้อราหรือโปรตัวซัว
* น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้ง และอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
* ปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง
* ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
* กลืนลำบาก หรือเจ็บเวลากลืน เนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา
* สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด หรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปมาจากจอตาอักเสบ
* ตกขาวบ่อย
* มีผื่นคันตามผิวหนัง (papulopruritic eruption)
* ซีด
* มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
* สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม เนื่องจากความผิดปกติของสมอง
* อาการของโรคมะเร็งที่เกิดแทรกซ้อน เช่น มะเร็งของผนังหลอดเลือดที่เรียกว่า Kaposi's sarcoma (KS) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น
ในเด็ก ที่ติดเชื้อเอชไอวี ระยะแรกอาจมีอาการน้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามเกณฑ์ เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นก็อาจมีอาการเดินลำบากหรือพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ และเมื่อเป็นเอดส์เต็มขั้น นอกจากมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแบบเดียวกับผู้ใหญ่แล้ว ยังอาจพบว่าหากเป็นโรคที่พบทั่วไปในเด็ก (เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ ทอนซิลอักเสบ) ก็มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ




* การแยกโรค

ในระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ป่วยมักมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติทั่วไป จะทราบว่ามีการติดเชื้อก็โดยการตรวจเลือด
ในระยะติดเชื้อที่มีอาการ ผู้ป่วยสามารถแสดงอาการได้แบบเดียวกับการติดเชื้อของระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น
* ผิวหนังเป็นเริม งูสวัด โรคเชื้อรา แผลเรื้อรัง พุพอง
* ลิ้นเป็นฝ้าขาวแบบโรคเชื้อรา
* เป็นไข้และไอเรื้อรัง แบบวัณโรคปอด
* เป็นไข้ ไอ หอบ แบบปอดอักเสบ
* เป็นไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอก้มไม่ได้ (คอแข็ง) แบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
* แขนขาชาหรืออ่อนแรง แบบไขสันหลังอักเสบ
* ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกแบบโรคเลือด
* ท้องเดินเรื้อรัง แบบมะเร็งลำไส้ใหญ่
ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการผิดปกติแบบเรื้อรัง หรือร่วมกับไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ก็ถึงสงสัยว่าเป็นโรคเอดส์




* การวินิจฉัย

แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้โดยการตรวจเลือดเพื่อบ่งบอกการติดเชื้อเอชไอวีโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
- ตรวจหาสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อเอชไอวี โดยวิธีอีไลซ่า (ELISA) จะตรวจพบสารภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ประมาณ 8 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 6 เดือน) วิธีนี้เป็นการตรวจยืนยันด้วยการตรวจกรองขั้นต้น ถ้าพบเลือดบวก ต้องทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีอีไลซ่าที่ผลิตโดยอีกบริษัทหนึ่งที่ไม่ซ้ำกับ วิธีตรวจครั้งแรก หรือทำการตรวจด้วยวิธี particle agglutination test (PA) ถ้าให้ผลบวกก็สามารถวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี แต่ถ้าให้ผลลบก็ต้องตรวจยืนยันโดยวิธีเวสเทิร์นบลอต (Western blot) อีกครั้ง ซึ่งให้ผลบวก 100% หลังติดเชื้อ 2 สัปดาห์

- การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจน (ส่วนประกอบของตัวเชื้อเอชไอวี) โดยวิธี PCR จะตรวจพบแอนติเจนหลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์
ในรายที่มีอาการแสดง นอกจากการตรวจเลือดดังกล่าวข้างต้นแล้ว แพทย์จะตรวจหาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น ตรวจเสมหะและเอกซเรย์ปอดในรายที่สงสัยเป็นปอดอักเสบหรือวัณโรคปอด เจาะหลังในรายที่สงสัยจะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตรวจชิ้นเนื้อในรายที่สงสัยเป็นมะเร็ง เป็นต้น


* การดูแลตนเอง

ใน รายที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี (เช่น มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย ฉีดยาเสพติด มีสามี ภรรยาหรือคู่นอนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น) หรือมีอาการที่ชวนสงสัย ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด
เมื่อตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ ควรปฏิบัติดังนี้

- ไปพบแพทย์และตรวจเลือดเป็นระยะๆ ตามที่แพทย์แนะนำ และกินยาต้านไวรัสเมื่อมีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. การกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องมักจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนาน ส่วนใหญ่มักจะนานกว่า 10 ปีขึ้นไป หากสงสัยมีอาการข้างเคียงจากยา ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัด เพื่อปรับเปลี่ยนยา พยายามอย่าให้ขาดยา

- ทำงาน เรียนหนังสือ คบค้าสมาคมกับผู้อื่นและปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าจะแพร่เชื้อให้คนอื่นโดยการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกันหรือ หายใจรดผู้อื่น

- หากมีความกังวลเป็นทุกข์ใจ ควรเล่าความในใจให้ญาติสนิทมิตรสหายฟัง หรือขอคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หรืออาสาสมัครในองค์กรพัฒนาเอกชน

- เรียนรู้ธรรมชาติของโรค การรักษา การดูแลตนเอง จนมีความเข้าใจโรคนี้เป็นอย่างดี ก็จะไม่มีความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และมีกำลังใจเข้มแข็ง ซึ่งเป็นอาวุธอันทรงพลังในการบำรุงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงต่อไป ผู้ที่เสียกำลังใจอาจเสียสุขภาพทางกายหรือถูกโรครุมเร้าได้ง่าย

- ส่งเสริมสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย (ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมราคาแพง) งดแอลกอฮอล์ บุหรี่ สิ่งเสพติด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

- เสริมสร้างสุขภาพจิตด้วยการฟังเพลง ร้องเพลง เล่นกีฬา อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ฝึกสมาธิ เจริญสติ สวดมนต์หรือภาวนาตามลัทธิศาสนาที่นับถือ หมั่นทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่น สร้างกุศลกรรม (เช่น ช่วยรณรงค์ในการป้องกันโรคเอดส์ บำเพ็ญประโยชน์ ทำงานอาสาสมัคร เป็นต้น) ถ้ามีโอกาสควรเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในหมู่ผู้ติดเชื้อ

- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดย
• ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และงดการร่วมเพศทางปากหรือทวารหนัก
• ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
• งดการบริจาคเลือดหรืออวัยวะต่างๆ เช่น ดวงตา ไต เป็นต้น
• เมื่อร่างกายเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ให้รีบทำความสะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที แล้วนำไปแยกซักให้สะอาดและตากให้แห้ง ควรระวังอย่าให้ผู้อื่นสัมผัสถูกเลือดหรือน้ำเหลืองของตัวเอง
• ไม่ใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น

- หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ โดยการคุมกำเนิด เพราะเด็กอาจมีโอกาสรับเชื้อจากมารดาได้

- มารดาที่มีการติดเชื้อ ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง

ส่วนผู้ที่ตรวจพบว่า มีอาการป่วยเป็นเอดส์แล้ว ควรปฏิบัติดังนี้
- ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ โดยปรับให้เหมาะกับสภาพร่างกาย เช่น ทำงานและออกกำลังกายแต่พอเหมาะ

- กินยาและรับการรักษาพยาบาลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรกินยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาทุกวัน อย่าได้ขาด ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีเช่นคนปกติทั่วไป

- เมื่อมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน ควรป้องกันมิให้เชื้อโรคต่างๆ แพร่ให้ผู้อื่น เช่น
•ใช้กระดาษหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม
• ถ้วย ชาม จาน แก้วน้ำที่ใช้แล้ว ควรล้างให้สะอาด ด้วยน้ำยาล้างจานหรือลวกด้วยน้ำร้อน แล้วทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำไปใช้ใหม่
• ควรระมัดระวังมิให้น้ำมูก น้ำลาย น้ำเหลืองจากแผล ปัสสาวะ และสิ่งขับถ่ายต่างๆ ไปเปรอะเปื้อนถูกผู้อื่น
• การบ้วนน้ำลายหรือเสมหะ รวมทั้งการทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว ควรมีภาชนะใส่ให้เป็นที่เป็นทาง และสามารถนำไปทิ้งหรือทำความสะอาดได้สะดวก
• สามารถใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ควรระมัดระวังอย่าให้สิ่งขับถ่าย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ อาเจียน เป็นต้น เปรอะเปื้อนพื้นโถส้วมและอ่างล้างมือ ควรล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีส่วนผสมของคลอ รอกซ์ (Chlorox) เป็นประจำ และล้างมือหลังจากการขับถ่ายทุกครั้ง

สำหรับญาติและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ควรปฏิบัติดังนี้
-ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์อย่างถ่องแท้

- ให้กำลังใจ ดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความอบอุ่น เช่น การพูดคุย สัมผัสโอบกอด เป็นต้น และคอยกระตุ้นเตือนให้ผู้ป่วยกินยาตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาต้านไวรัสซึ่งต้องกินให้ตรงเวลาทุกวันอย่าได้ขาด

- หากผู้ป่วยมีบาดแผลหรือเปรอะเปื้อนเลือด หรือน้ำเหลืองที่ร่างกายหรือเสื้อผ้าของผู้ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกโดยตรง ถ้าจะสัมผัสควรสวมถุงมือยาง ถ้าไม่มี อาจใช้ถุงพลาสติกที่ไม่มีรูรั่ว 2-3 ชั้น แทนก็ได้

-เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนของผู้ป่วยที่ไม่เปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ไม่ต้องแยกซักต่างหาก แต่ถ้าเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ควรใช้ถุงมือยางจับต้องและนำไปแช่ในน้ำผสมผงฟอกขาวประมาณ 30 นาทีเสียก่อน แล้วจึงนำไปซักด้วยผงซักฟอกตามปกติ

-ทุกคนในบ้านสามารถใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมร่วมกับผู้ป่วยได้ แต่ควรทำความสะอาดโดยสวมถุงมือและใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ (ที่มีส่วนผสมของคลอรอกซ์) หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ

-เครื่องครัว ถ้วย จาน ชาม ช้อน ส้อม ไม่จำเป็นต้องแยกใช้ต่างหาก และในการกินอาหารร่วมสำรับกัน ควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี


* การรักษา

แพทย์จะให้การรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ตามแนวทางโดยคร่าวๆ ดังนี้
1. ให้ยาต้านไวรัส (anti-retrovirus/ARV) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี สามารถลดจำนวนของเชื้อเอชไอวี ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ชะลอการเกิดอาการป่วยเป็นโรคเอดส์ และลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยให้หายขาดจากโรคก็ตาม
แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

-เมื่อ มีอาการแสดงของโรคทั้งในระยะแรกเริ่มและระยะหลัง การให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่เป็นระยะแรกเริ่ม (primary HIV infection) สามารถชะลอการดำเนินโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรงได้

- เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจเลือดพบว่ามีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.

-เมื่อ ยังไม่มีอาการแสดง แต่มีค่า CD4 อยู่ที่ 200-350 เซลล์/ลบ.มม. อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเป็นรายๆ ไป เช่น ในรายที่ปริมาณเชื้อไวรัสสูง มีอัตราการลดลงของ CD4 อย่างรวดเร็ว ความพร้อมของผู้ป่วย เป็นต้น ในการให้ยาควรติดตามดูผลข้างเคียง ซึ่งอาจมีอันตรายต่อผู้ป่วย หรือทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมกินยาอย่างต่อเนื่อง

2. ให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยารักษาวัณโรค ยาปฏิชีวนะรักษาปอดอักเสบ ยารักษาเชื้อราในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา ให้ยาต้านไวรัสรักษาโรคเริม เป็นต้น


* ภาวะแทรกซ้อน

มักพบในผู้ป่วยเอดส์ที่มีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ การติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งอาจมีความรุนแรงและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ เช่น วัณโรคปอด ปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส (pneumocystis pneumonia/PCP) ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียต่างๆ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราคริปโตค็อกคัส (cryptococcal meningitis) หลอดอาหารอักเสบจากเชื้อราแคนดิดา จอตาอักเสบจากเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (ทำให้ตามัวตาบอดได้) ท้องเดินรุนแรงจากเชื้อซัลโมเนลลา ตับอักเสบจากไวรัส เป็นต้น
นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น

- มะเร็ง ที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งผนังหลอดเลือด (Kaposi's sarcoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก

-ภาวะ แทรกซ้อนทางระบบประสาทและสมอง เช่น ภาวะสมองเสื่อม (AIDS dementia complex) ไขสันหลังอักเสบ (ขาชา อ่อนแรง) ปลายประสาทอักเสบ (ปวดแสบปวดร้อนและชาที่ขา)

-อาการน้ำหนักลดมากจนผอมแห้ง (wasting syndrome) มักมีอาการเรื้อรัง ท้องเดิน และอ่อนเปลี้ยเพลียแรงร่วมด้วย

-ภาวะโลหิตจาง (ซีด)

-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (มีจุดแดง จ้ำเขียวตามผิวหนังหรือเลือดออก)

-ปวดข้อ ข้ออักเสบ

-ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง

-ภาวะไตวายเรื้อรัง

-ถุงน้ำดีอักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ


* การดำเนินโรค

หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยมักมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตภายในไม่กี่ปี
แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจริงจัง ก็มักลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนลงได้อย่างมาก สามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพและอายุยืนยาว


* การป้องกัน

สำหรับประชาชนทั่วไป

-หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่ครอง ควรยึดมั่นต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครอง (รักเดียวใจเดียว)

-ถ้า ยังนิยมมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะหญิงบริการ หรือบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์เสรีหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ก็ควรจะใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง

-หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมา เพราะอาจชักนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย (ประมาท ไม่คิดป้องกันตัวเอง)

-หลีก เลี่ยงการสัมผัสถูกเลือดของผู้อื่น เช่น ขณะช่วยเหลือผู้ที่มีบาดแผลเลือดออก ควรใส่ถุงมือยางหรือถุงพลาสติก 2-3 ชั้น ป้องกันอย่าสัมผัสถูกเลือดโดยตรง

-หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

-หลีก เลี่ยงการใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนใช้ควรทำลายเชื้อด้วยการแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% โพวิโดนไอโอดีน 2.5% ทิงเจอร์ไอโอดีน, ไลซอล 0.5-3% โซเดียมไฮโพคลอไรด์ 0.1-0.5% (หรือน้ำยาคลอรอกซ์ 1ส่วนผสมน้ำ 9 ส่วนก็ได้) เป็นต้น นาน 10-20 นาที

-ก่อนแต่งงาน ควรปรึกษาแพทย์ในการตรวจเช็กโรคเอดส์ ถ้าพบว่าคนใดคนหนึ่งมีเลือดบวกควรพิจารณาหาทางป้องกันมิให้ติดอีกคนหนึ่ง

-คู่สมรสที่มีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ ควรคุมกำเนิด และป้องกันการแพร่เชื้อโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

หญิงตั้งครรภ์ ที่คิดว่าตัวเองหรือคู่สมรสมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเลือดตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ใหม่ๆ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เพื่อลดการติดเชื้อของทารกในครรภ์ (จากการวิจัยพบว่า สามารถลดการติดเชื้อได้ถึงประมาณ 2 ใน 3)


* ความชุก

โรค นี้พบมากในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ทำงานบริการทางเพศ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย ผู้ที่มีสามีภรรยาหรือคู่นอนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือเป็นผู้ติดเชื้อ ทารกที่มีมารดาเป็นผู้ติดเชื้อ
พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2เท่า ประมาณร้อยละ 67 เป็นกลุ่มอายุ 25-39 ปี
ในปัจจุบันพบในกลุ่มเยาวชนมากขึ้น เนื่องจากมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา