Clock


วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

เอสแอลอี โรคภูมิต้านตนเอง

เอสแอลอีเป็นชื่อโรคที่เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษ (SLE) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการอักเสบของเนื้อเยื่อแทบทุกส่วนของร่างกาย อันเป็นผลมาจากร่างกายมีการสร้างสารภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน หรือเรื้อรังก็ได้ จำเป็นต้องรับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

- ชื่อภาษาไทย
เอสแอลอี

- ชื่อภาษาอังกฤษ
SLE, Systemic lupus erythematosus

- สาเหตุ
ยัง ไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติ ต่อเชื้อโรคหรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้มีการสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเนื้อเยื่อต่างๆ จัดเป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune) ชนิดหนึ่ง

บาง ครั้งอาจพบมีสาเหตุกระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น ยาบางชนิด (เช่น ซัลฟา ไฮดราลาซีน เมทิลโดพา ไอเอ็นเอช คลอร์โพรมาซีน เฟนิโทอิน ไทโอยูราซิล) การถูกแดด การกระทบกระเทือนทางจิตใจ ภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น

นอกจาก นี้ ยังสันนิษฐานว่า อาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง (เนื่องจากพบมากในหญิงวัยหลังมีประจำเดือนและก่อนวัยหมดประจำเดือน) และกรรมพันธุ์ (พบมากในผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้)

อาการ
ที่ พบได้บ่อยคือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามตัว ปวดและบวมตามข้อ ต่างๆ ซึ่งโดยมากจะเป็นตามข้อเล็กๆ (เช่น ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า) ทั้ง 2 ข้าง ทำให้กำมือลำบาก
อาการเหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไป เรื้อรังเป็นแรมเดือน

นอกจากนี้ มักพบผื่นหรือฝ้าแดงขึ้นที่ข้างจมูก ทั้ง 2 ข้าง มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ เรียกว่า ผื่นปีก ผีเสื้อ (butterfly rash)

บาง รายอาจมีอาการแพ้แดด กล่าวคือ เวลาไปถูกแดด ผิวหนังจะเกิดผื่นแดง และผื่นปีกผีเสื้อที่ข้างจมูกจะเห็นชัดเจนขึ้น อาการไข้และปวดข้อก็จะเป็นรุนแรงขึ้น

บางรายอาจมีจุดแดง (จุดเลือดออก) หรือมีประจำเดือนออกมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นอาการระยะแรกของโรคนี้ก่อนมีอาการอื่นๆ บางครั้งแพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอทีพี (ITP ซึ่งเป็นภาวะเลือดออกง่ายชนิดหนึ่ง)

บางรายอาจมีอาการผมร่วงมาก มีจ้ำแดงขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือนิ้วเท้าซีดขาวและเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น หรือมีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการบวมทั้งตัว (เนื่อง จากไตอักเสบ) หายใจหอบ (เนื่องจากปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือหัวใจวาย) ชีพจรเต้นเร็วหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ (เนื่องจากหัวใจอักเสบ)

ในรายที่ มีอาการอักเสบของหลอดเลือดในสมอง อาจทำให้มีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น เสียสติ ซึม เพ้อ ประสาทหลอน แขนขาอ่อนแรง ตาเหล่ ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตภายใน 3-4 สัปดาห์
ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการกำเริบ เป็นๆ หายๆ เรื้อรังเป็นแรมปี

- การแยกโรค
เนื่องจากโรคนี้มีอาการแสดงได้หลากหลาย จึงอาจมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ ได้มากมาย เช่น
อาการไข้ (ตัวร้อน) ปวดเมื่อย ระยะแรกอาจคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ระยะมีไข้ไม่เกิน 7 วัน) เมื่อเป็นเรื้อรังเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นแรมเดือน ก็ต้องแยกจากโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น เอดส์ วัณโรค มะเร็ง เป็นต้น
อาการปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ก็ต้องแยกจากโรคข้อรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis)
อาการมีจุดแดงหรือโลหิตจาง ก็ต้องแยกจากโรคเลือดชนิดต่างๆ
อาการบวม ก็ต้องแยกจากโรคไตอักเสบชนิดต่างๆ
อาการหายใจหอบ ก็ต้องแยกจากปอดอักเสบ
อาการทางสมอง ก็ต้องแยกจากโรคสมองอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง

- การวินิจฉัย
แพทย์ จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ตรวจเลือด พบแอนตินิวเคลียร์แฟกเตอร์ (antinuclear factor) และแอลอีเซลล์ (LE cell) ตรวจปัสสาวะอาจพบสารไข่ขาวและเม็ดเลือดแดง
นอกจากนี้ อาจต้องทำการตรวจเอกซเรย์ คลื่นหัวใจและตรวจพิเศษอื่นๆ

- การดูแลตนเอง

เมื่อ มีอาการไข้เกิน 7 วัน ปวดตามข้อนิ้วมือนิ้วเท้าทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน พบมีผื่นปีกผีเสื้อที่ข้างจมูก ผมร่วง บวม หายใจหอบ ชีพจรเต้นเร็วหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ มีจุดแดงขึ้นตามตัว ซีด (โลหิตจาง) อาการผิดปกติทางสมอง หรืออาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเอสแอลอี ควรปฏิบัติ ดังนี้
♦ รับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งอาจต้องกินยาติดต่อกันเป็นแรมปี หรือหลายๆ ปี
♦ หลัง จากสามารถควบคุมอาการจนทุเลา (สงบ) แล้ว ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้เช่นปกติ ควรออกกำลังกายแต่พอควร ทำจิตใจให้สบายและหาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ (เช่น ทำสมาธิ สวดมนต์ เล่นโยคะ รำมวยจีน ฝึกชี่กง เป็นต้น)
♦ หลีกเลี่ยงการออกกลางแดด เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้ ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแดด ควรกาง ร่ม ใส่หมวก ใส่เสื้อแขนยาว
♦ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรพยายาม หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น อย่ากินอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด อย่าเข้าใกล้คนที่ไม่สบาย อย่าเข้าไปในบริเวณที่มีคนอยู่กันแออัด เป็นต้น
♦ ทุกครั้งที่รู้สึกไม่สบายหรือมีอาการผิดสังเกต ควรรีบไปพบแพทย์ที่รักษาก่อนนัด

การรักษา
ใน รายที่เป็นไม่รุนแรง (เช่น มีเพียงไข้ ปวดข้อ ผื่นแดงที่หน้า) แพทย์อาจเริ่มให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (ยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบ) ถ้าไม่ได้ผลอาจให้ไฮดรอกซีคลอโรควีน (hydroxychloroquine) เพื่อช่วยลดอาการเหล่านี้

ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์จะให้สตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) ในขนาดสูงติดต่อเป็นสัปดาห์หรือหลายเดือน เพื่อลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ เมื่อดีขึ้นจึงค่อยๆ ลดขนาดยาลง และให้ในขนาดต่ำเพื่อควบคุมอาการไปเรื่อยๆ อาจนานเป็นแรมปีหรือจนกว่าจะเห็นว่าปลอดภัย

ถ้าให้ยาดังกล่าวแล้วไม่ ได้ผล แพทย์จะให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophasphamide) อะซาไทโอพรีน (azathioprine) เป็นต้น

ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น บวม หายใจหอบ มีอาการผิดปกติทางสมอง เป็นต้น จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล จนกว่าจะปลอดภัย จึงให้ผู้ป่วยกลับบ้านและนัดมาตรวจกับแพทย์เป็นระยะๆ

- ภาวะแทรกซ้อน
ที่สำคัญคือ ไตอักเสบ ปอดอักเสบ หัวใจอักเสบ หัวใจวาย ไตวาย ความผิดปกติของสมองและระบบประสาท ภาวะติดเชื้อร้ายแรง เป็นต้น

- การดำเนินโรค
ผล การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และความแข็งแรงของตัวผู้ป่วย บางรายอาจเกิดอาการรุนแรง จนมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเฉียบพลัน เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่นาน
ในรายที่อาการไม่รุนแรง หลังการรักษาอาการมักจะสงบไปได้ แต่ก็อาจมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ซึ่งต้องติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
โดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยมีชีวิต รอดจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้เกิน 5 ปี โรคก็มักจะไม่กำเริบรุนแรงและค่อยๆสงบไปได้ นานๆครั้งอาจมีอาการกำเริบสักที แต่จะไม่รุนแรงและสามารถมีชีวิตเยี่ยงคนปกติได้

- การป้องกัน
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ จึงยังไม่ทราบการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้
ส่วน ในรายที่เป็นโรคนี้แล้ว ควรหาทางป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยหลีกเลี่ยงเหตุกำเริบ เช่น ความเครียด การออกกลางแดด การติดเชื้อ เป็นต้น (ดูในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")

ความชุก

โรคนี้พบได้ประปรายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบมากในช่วงอายุ 20-45 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 10 เท่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา