Clock


วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

คุณรู้หรือไม่..ตรวจสุขภาพคุณตรวจอะไรบ้าง

ปัจจุบันเรามักได้รับคำแนะ นำให้ตรวจร่างกายประจำปี หรือเมื่อรับประทานยาบางกลุ่มไประยะหนึ่ง แพทย์จะสั่งให้เราไปเจาะเลือดตรวจร่างกาย หลายท่านคงจะสงสัยว่าเขาตรวจอะไร และตรวจเพื่ออะไร

การตรวจเลือดและปัสสาวะนั้น ปกติเราจะตรวจร่างกายต่างๆ ดังต่อไปนี้

การตรวจเบาหวาน

การตรวจการทำงานของไต

การตรวจการทำงานของตับ

การตรวจระดับไขมันในเลือด

การตรวจระดับยูริคในเลือด

การตรวจระดับความเข้มข้นของเลือด ปริมาณ และชนิดของเม็ดเลือดทั้งขาวและแดง

การตรวจเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่ร่างกายขาดฮอร์โมน อินซูลิน จึงทำให้การใช้น้ำตาลกลูโคสบกพร่องไป สิ่งที่จะตรวจพบคือระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

ถ้าการตรวจเลือดหลังอดอาหาร 6 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลเกิน 110 มก./เลือด100 ซีซี ก็บอกได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน

ถ้าผลการตรวจเลือดไม่เด่นชัด เช่น ตรวจน้ำตาลได้เกิน 110 พอตรวจซ้ำไม่เกิน หรือตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ แต่น้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 110 เราก็จะทำการตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานกลูโคส 75-100 กรัม วิธีทดสอบนี้เราเรียกว่า Glucose Tolerance Test (GTT) ถ้าเกิน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานน้ำตาลกลูโคสระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 140 มก./เลือด100 ซีซี ก็หมายความว่าผู้ป่วยนั้นเป็นเบาหวาน แต่ยังเป็นน้อยอยู่ ที่เราเรียก เบาหวานแอบแฝง (Latent DM)

การตรวจการทำงานของไต

ในการตรวจการทำงานของไต ปกติเราจะตรวจหาระดับ ยูเรียและครีตินิน (BUN = blood urea nitrogen และcreatinine) ในเลือด สารทั้ง 2 อย่างนี้เป็นของเสียที่เกิดจากการทำลายสารโปรตีนในร่างกาย ถ้าสารทั้ง 2 อย่างนี้คั่งค้างในเลือดก็แสดงว่าไตทำงานไม่ปกติ การตรวจที่ละเอียดกว่าเพื่อตรวจสอบการทำงานของไตจำเป็นต้องใช้วิธีที่ยุ่ง ยากกว่า คือ การหาปริมาณเลือดที่ถูกกรองโดยไต เราเรียกว่า creatinine clearance โดยการหาปริมาณคริตินินที่ถูกขับออกมาทางปัสสาวะตลอด 24 ชั่วโมง แล้วนำไปเทียบกับปริมาณคริตินินในเลือด เราก็จะทราบได้ว่ามีเลือดที่ผ่านการกรองโดยไตที่ปริมาณกี่ซีซี/นาที ซึ่งปกติไตเราจะกรองเลือด100-120 ซีซี/นาที ดังนั้นถ้าไตเสื่อมลงร้อยละ 50 ก็จะพบว่าไตกรองเลือดได้เพียง 50-60 ซีซี/นาที ส่วนอีก 50-60 ซีซีนั้นผ่านไตไปโดยไม่ได้รับการกรองของเสียออก

การตรวจปัสสาวะก็เป็นวิธีที่ดีมากวิธีหนึ่งในการตรวจการทำงานของไต จากปัสสาวะเราสามารถหา

  1. ความถ่วงจำเพาะ ไตที่เสื่อมจะไม่สามารถทำให้ปัสสาวะเข้มข้นได้ เพราะฉะนั้นค่าความถ่วงจำเพาะจะต่ำกว่า 1.015 แม้ว่าจะเป็นปัสสาวะหลังงดน้ำมา 6-8 ชั่วโมงก็ตาม
  2. ความเป็นกรดเป็นด่าง ไตที่เสื่อมจะขับกรดออกได้น้อย ดังนั้นปัสสาวะจะเป็นด่างมากกว่าปกติ
  3. โปรตีน หรือที่เราเรียกกันว่าไข่ขาวในปัสสาวะ ปกติโปรตีนในปัสสาวะจะมีปริมาณน้อยมากจนตรวจไม่พบ คือ ใน 24 ชั่วโมงจะมีโปรตีนออกมาทางปัสสาวะน้อยกว่า 150 มก. ถ้าตรวจพบโปรตีนมากกว่าปกติจะบอกถึงภาวะไตอักเสบหรือมีการรั่วไหล หรือการดูดกลับบกพร่อง
  4. เม็ดเลือดแดงและขาว ถ้าเม็ดเลือดมากจะบอกถึงภาวะการอักเสบ แต่ต้องแยกว่าอักเสบที่ไตหรือทางเดินปัสสาวะที่ต่ำกว่าไตลงมาคือ ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ

การทำงานของตับ

การตรวจเลือดเพื่อดูสภาวะการของตับ มีได้หลายอย่างที่ทำกันเป็นประจำดังนี้

  1. การตรวจหาระดับสารเคมีของเซลล์ตับ SGOT และSGPT ซึ่งปกติจะมีน้อยกว่า 40 ยูนิต/เลือด100 ซีซี ถ้าเซลล์ตับอักเสบถูกทำลายมากขึ้นSGOTและSGPT ก็จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนความรุนแรง
  2. การตรวจหาระดับ alkaline phosphatase ซึ่งเป็นสารเคมีจากกระดูกและถูกขับถ่ายทางตับผ่านทางน้ำดี ถ้าสารนี้คั่งค้างก็จะบอกได้ว่าการทำงานของตับผิดปกติ เช่น มีการอุดกั้นทางเดินน้ำดีหรือเซลล์ตับอักเสบทำงานไม่ปกติ
  3. การตรวจหาระดับ albumin ในเลือด เนื่องจาก albumin สร้างโดยเซลล์ตับ เพราะฉะนั้นถ้าตับทำงานผิดปกติ albumin ก็จะต่ำลง
  4. การตรวจหาระดับน้ำดีในเลือด น้ำดีถูกสร้างขึ้นที่ตับมีหน้าที่ย่อยไขมัน ถ้าตับขับน้ำดีไม่ได้ เช่น ภาวะตับอักเสบทางเดินน้ำดีอุดตัน ก็จะเกิดดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง ระดับน้ำดีก็จะตรวจพบว่าสูงขึ้นกว่าปกติ

การตรวจหาระดับกรดยูริคในเลือด

กรดยูริคเป็นสารที่เกิดจากขบวนการทำลายโปรตีนในร่างกาย ปกติโปรตีนส่วนใหญ่จะถูกทำลายเป็นยูเรีย มีส่วนน้อยเป็นยูริค ถ้ากรดยูริคเกิน 7.5 มก/เลือด100 ซีซี จะตกตะกอนเป็นผลึกรูปเข็มซึ่งจะเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย ดังนั้นเหตุผลที่สำคัญที่ต้องตรวจระดับกรดยูริค คือ เป็นโรคที่พบบ่อยและถ้าปล่อยให้ระดับกรดยูริคสูงอยู่นานหลายปี จะก่อให้เกิดโรคข้ออักเสบที่เรียกว่าโรคเกาท์ และก่อให้เกิดผลึกในไตทำให้ไตเสื่อมสภาพได้ และยังทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพเกิดภาวะหลอดเลือดตีบหรือตันได้

ระดับไขมันในเลือด

ตามที่ทราบกันดีแล้วว่า ไขมันในเลือดสูงเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดในร่างกายตีบและเกิดอุดตันขึ้น

ในปัจจุบันโรงพยาบาลสามารถตรวจไขมันในเลือดได้ถึง 4 ชนิด คือ cholesterol ,triglyceride,HDL และ LDL

Total cholesterol เป็นไขมัน cholesterol ทั้งหมดซึ่งแยกออกเป็นหลายชนิดตามขนาดของไขมัน ดังนั้นปัจจุบันเราจึงแยกออกตามความหนาแน่น คือ high density, very high densityและ very low density ในปัจจุบันเราตรวจ LDL และ HDL ได้สะดวกและใช้ในการติดตามโรคและผลการรักษา

HDL จะทำหน้าที่เป็นตัวนำเอาไขมันไปที่ตับเพื่อทำลาย ดังนั้น ถ้า HDL ต่ำก็จะมี cholesterol ตกค้างในร่างกายมาก ดังนั้นการดู total cholesterol อย่างเดียวอาจพยากรณ์โรคได้ไม่ดีเท่ากับการดู อัตราส่วนของ total cholesterol : HDL ซึ่งผลลัพธ์นี้ถ้าสูงจะไม่ดี

Triglyceride เป็นไขมันที่มีอันตรายเช่นกัน ถ้าพบว่าสูงก็จำเป็นต้องรักษา

การตรวจระดับความเข้มข้นของเลือด ปริมาณ และชนิดของเม็ดเลือดทั้งขาวและแดง

CBC = Complete blood count คือการตรวจหาว่าซีดหรือไม่ ปริมาณเม็ดเลือดขาวต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร(มม.3)ซึ่ง ถ้าสูงก็จะบอกถึงภาวะการติดเชื้อ การอักเสบในร่างกาย และถ้าสูงมากๆจะตรวจพบได้ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ควรตรวจดูชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตรวจปริมาณเกร็ดเลือด ลักษณะและชนิดของเม็ดเลือดแดงด้วย ดังนั้นความผิดปกติของการตรวจ CBC นี้จะบอกถึงภาวะที่เกี่ยวกับโรคเลือด การติดเชื้อ การอักเสบ

ข้อมูลจาก http://www.inf.ku.ac.th/article/pharm/510206/bloodtest.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา