Clock


วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสายสะดือ

เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) มีแหล่งที่มาหลายชนิด ได้แก่ ตัวอ่อนทารก, เลือดสายสะดือ และร่างกายผู้ใหญ่. คุณสมบัติที่น่าสนใจคือ สามารถใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ได้. ตัวอย่างเช่น Parkinson' disease, Congenital immunodeficiencies, Haemoglobinopathies,1 spinal cord injuries เป็นต้น.2

ใน ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเลือดสายสะดือเป็นแหล่งทางเลือกของเซลล์ต้นกำเนิดชนิด haematopoietic เพื่อการรักษาโรคทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยผู้ใหญ่ ทำให้ทราบถึงข้อดีและข้อเสียของเลือดสายสะดือที่ชัดเจนดังสรุปในตารางที่ 1.



เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสายสะดือถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531 เพื่อการปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยโรคซีดชนิด Fanconi.

โดย ที่ความสำเร็จของการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสายสะดือขึ้นกับหลาย ปัจจัยในปัจจุบัน The Maternal/Fetal Medicine Committee of the Society of Obstetricians and Gynaecolo gists of Canada (SOGC) จึงได้มีข้อแนะนำดังนี้3

ในด้านข้อบ่งชี้

1. เลือดสายสะดือให้พิจารณาใช้ในกรณี
ก) การปลูกถ่ายชนิด allogenic ในเด็กที่ไม่สามารถหาญาติที่มี HLA เหมือนกัน หรือเข้ากันได้ดี หรือหาผู้ใหญ่ให้บริจาคไขกระดูกไม่ได้.
ข) การปลูกถ่ายชนิด allogenic ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น ที่เป็นโรคมะเร็งระบบเลือดที่ไม่มีผู้บริจาคไขกระดูกที่เหมาะสมและจำเป็น เร่งด่วน.

2. ส่งเสริมให้หญิงที่มาคลอดบุตรบริจาคเลือดสายสะดือสำหรับใช้ประโยชน์เพื่อการรักษาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง.

3. ผู้ให้บริการทางด้านสูติกรรมจะต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิด ชนิด haematopoietic ที่มีในเลือดสายสะดือรวมทั้งวิธีการที่ได้มาและการจัดเก็บ.

4. การจัดเก็บเลือดสายสะดือสำหรับลูกพี่ลูกน้อง หรือบุพการีเพื่อการรักษาในอนาคต.

ในทางการจัดเก็บ

5. ไม่แนะนำการเก็บเลือดสายสะดือระยะยาวเพื่อใช้กับตนเอง (autolagous donation) เพราะมีข้อบ่งชี้จำกัด และยังขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติ.

6. เจ้าหน้าที่ห้องคลอดจะต้องมีการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการดูดเลือดสายสะดือให้ ได้ปริมาณเพียงพอและได้คุณภาพเพียงพอที่จะใช้โดยปลอดจากความผิดพลาดในการติด ฉลาก, ปนเปื้อนแบคทีเรีย และเลือดแข็งตัว.

7. ในการจัดเก็บเลือดสายสะดือจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของมารดา และทารกเป็นอันดับ แรก ไม่ใช่พยายามให้ได้เลือดประมาณมากๆ.

8. ให้เก็บเลือดสายสะดือภายหลังจากทารกคลอด แต่จะต้องก่อนที่รกคลอด.

9. การดูแลธนาคารเลือดสายสะดือของภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องปฏิบัติตามนโยบาย อย่างเคร่งครัด เกี่ยวกับการขนส่ง, การทดสอบด้านความปลอดภัย, HLA typing, การแช่เย็น และการเก็บในระยะยาวเพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้รับ, ในแง่การติดเชื้อ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา.

10. จะต้องมีการขึ้นทะเบียน, กำหนดระเบียบปฏิบัติ และประกันคุณภาพในส่วนของหน่วยจัดเก็บและธนาคารฯ.

ในทางจริยธรรม

11. จะต้องไม่บังคับให้มีการบริจาค.

12. จะต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งส่วนการจัดเก็บและดูแลรักษาเลือดตั้งแต่ระยะฝากครรภ์ก่อนเจ็บครรภ์คลอด และจะต้องยืนยันการให้อนุญาตหลังคลอด.

13. จะต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างเลือดที่เก็บไว้กับผู้บริจาค เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยและผู้บริจาค โดยจะต้องแจ้งผลการตรวจพบความผิดปกติแก่ผู้บริจาค โดยคำนึงถึงการรักษาความลับ.

14. ภาคเอกชนจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้เลือดฯ ในการรักษากับค่ารักษาพยาบาล และพยายามให้บุพการีของผู้ป่วยที่จะรับการรักษาด้วยเลือดสายสะดือเข้าใจความ แตกต่างระหว่างการบริจาคชนิด autologous และ allogenic และระหว่างธนาคารเลือดภาครัฐกับภาคเอกชน.

15. กระทรวงสาธารณสุขและสถานพยาบาล จะต้องพัฒนานโยบายและขั้นตอนปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธนาคารเลือดภาครัฐและภาคเอกชน.

สรุป
แม้ ว่าเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสายสะดือจะมีความสามารถพิเศษในการเจริญเติบโตไป เป็นเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ ของร่างกายสู้เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนไม่ได้ แต่ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ และไม่มีปัญหาทางด้านจริยธรรมดังที่ปรากฏในกรณีของการรักษาด้วยเซลล์ต้น กำเนิดจากตัวอ่อน โดยข้อดีของเลือดสายสะดือ ได้แก่ จัดหาได้เร็ว โอกาสเสี่ยงต่ำต่อการเกิด graft versus host disease และการติดเชื้อ รวมทั้งไม่มีความเสี่ยงต่อผู้บริจาคสามารถทำแช่เย็นได้ง่าย เซลล์มีชีวิตอยู่ได้หลายปี.

เอกสารอ้างอิง
1. Reyftmann L, Dechaud H, Hamamah S, Puceat M, Hedon B. Fetal and umbilical blood cord stem cells : a room for the obstetrician and gynaecologist. Part two. Gynecol Obstet Fertil 2004;32:969-75.
2. Pfendler KC, Kawase E. The potential of stem cells. Obstet Gynecol Surv 2003;58:197-208.
3. Armson BA, Maternal/Fetal Medicine Committee, Society of Obstetricians and Gynaecologists of Canada. Umbilical cord blood banking : implication for perinatal care providers. J Obstet Gynaecol Can 2005;27:263-90.

ประทักษ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ พ.บ.
ศาสตราจารย์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา