Clock


วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

การตรวจสมรรถภาพการทำงานของตับ

การตรวจสมรรถภาพการทำงานของตับ (SGOT & SGPT)

การตรวจสอบว่าตับมีการทำงานปกติหรือไม่ แพทย์จะสั่งตรวจในกรณีตรวจร่างกายประจำปี หรือตรวจในกรณีที่สงสัยว่ามีอาการที่เกิดจากโรคตับ เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง โดยสิ่งที่แพทย์ตรวจ ได้แก่

• ตรวจหาโปรตีนที่สร้างจากตับ

• การตรวจว่ามีดีซ่านหรือไม่

การตรวจระดับเอนไซม์จากตับ

• การตรวจการทำงานของตับเมื่อมีการอุดตันของทางเดินน้ำดี

• การตรวจทางรังสีวิทยา

• การตรวจเลือดดูเชื้อไวรัสตับอักเสบ

• การตรวจเลือดหามะเร็งตับ

การตรวจที่นิยมตรวจ และใช้ในการตรวจบ่อยที่สุด ก็คือ การตรวจระดับเอนไซม์จากตับ

เอนไซม์ตับที่สำคัญ SGOT & SGPT

SGOT เป็นเอนไซม์ที่พบในตับ ไต กล้ามเนื้อ หัวใจ SGPT เป็นเอนไซม์ที่พบมากในตับ พบน้อยในกล้ามเนื้อ หัวใจ ตับอ่อน เพราะฉะนั้นระดับเอนไซม์ SGPT จะมีความสำคัญ และมีความจำเพาะในการประเมินโรคตับมากกว่าเอนไซม์ SGOT ซึ่งอาจสูงจากสาเหตุอื่น เช่น การออกกำลังกายมากเกินไป

เมื่อตับเกิดโรคมีการทำลาย หรือการอักเสบของเนื้อตับ จะทำให้มีการหลั่งเอนไซม์ SGOT, SGPT ออกมาสู่กระแสเลือดมากขึ้น ทำให้ตรวจพบมีระดับสูงขึ้นกว่าปกติ ซึ่งระดับเอนไซม์ SGOT, SGPT จะผิดปกติ ให้พบได้ไวมาก โดยระดับ SGPT จะมีความสำคัญ และมีความจำเพาะมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการตรวจที่มีความไวมาก จึงอาจพบผลผิดปกติได้เล็กน้อยบ้างในคนทั่วไป จึงควรมีการกรองผล ดังนี้

1. ค่า SGOT, SGPT ที่สูงกว่าปกติ ไม่มากกว่า 1.5 เท่า อาจพบได้ในคนปกติ เพราะฉะนั้น ความผิดปกติเล็กน้อยในผู้ที่ไม่มีอาการ อาจไม่มีความสำคัญ

2. ค่า SGOT, SGPT อาจจะสูงกว่าปกติในคนที่อ้วน เนื่องจากคนอ้วนมักจะมีไขมันเกาะที่ตับ ซึ่งพบว่าเมื่อน้ำหนักลดลง ค่า SGOT และ SGPT ก็จะลดลง

สำหรับโรคที่ทำให้ค่า SGOT, SGPT สูง ได้แก่

• ตับอักเสบจากไวรัส

• ตับอักเสบจากการดื่มสุรา

• ตับอักเสบจากยา หรือสมุนไพร

• เนื้องอกในตับ

• ไขมันพอกตับ

โดย นพ. วิชัย จตุรพิตร ผู้อำนวยการ ศูนย์แพทย์อาชีวะเวชศาสตร์กรุงเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา