Clock


วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่ไม่มีทางเยียวยารักษา ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการแสดงของโรคนี้มักจะเสียชีวิตภายในเวลาสั้นๆ

แม้ ว่าจะไม่มีทางรักษา แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดยาป้องกัน ดังนั้นผู้ที่ถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน ควรรู้จักวิธีปฐมพยาบาลบาดแผลและรีบไปปรึกษาแพทย์ ว่าจำเป็นต้องฉีดยาป้องกันหรือไม่ อย่างไร

⇒ ชื่อภาษาไทย
โรคพิษสุนัขบ้า โรคกลัวน้ำ

⇒ ชื่อภาษาอังกฤษ
Rabies

⇒ สาเหตุ
เกิดจากเชื้อพิษสุนัขบ้า (rabies virus ซึ่งเป็น lyssavirus type 1 ในตระกูล Rhabdoviridae) ที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่พบบ่อยคือ สุนัข* แมว

นอก จากนี้ ยังพบในค้างคาว สัตว์ป่าต่างๆ ปศุสัตว์ (เช่น วัว ควาย แพะ แกะ หมู ลา อูฐ) สัตว์แทะ (เช่น กระรอก หนู) เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลบนผิวหนัง โดยการถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลีย (สำหรับการเลีย จะต้องเลียถูกเยื่อเมือกหรือรอยแผลถลอกเล็กๆ น้อยๆ เชื้อจึงจะเข้าได้ แต่ถ้าผิวหนังเป็นปกติดี เชื้อจะผ่านเข้าไปไม่ได้) เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน แล้วเดินทางขึ้นไปตามเส้นประสาทส่วนปลายเข้าสู่ไขสันหลังและสมอง หลังจากนั้นจะแพร่กระจายลงมาตามระบบประสาทส่วนปลายไปยังอวัยวะต่างๆ รวมทั้งต่อมน้ำลาย บางครั้งเชื้ออาจเดินทางเข้าสมองโดยไม่ต้องรอให้มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน (ทำให้มีระยะฟักตัวของโรคสั้นกว่า 7 วัน) บางครั้งเชื้ออาจเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์อื่น เช่น มาโครฟาจ (macrophage) เป็นเวลานานก่อนจะออกมาสู่เซลล์ประสาท (ทำให้มีระยะฟักตัวของโรคยาว)

ระยะฟักตัว (ระยะที่ถูกกัดจนกระทั่งมีอาการ) 7 วัน ถึง 6 ปี ส่วนใหญ่เกิดในช่วง 20-60 วัน หลังสัมผัสโรค ส่วนน้อยพบอาการหลังสัมผัสโรคมากกว่า 1 ปี ผู้ที่ถูกกัดที่หน้าและศีรษะรุนแรงมักมีระยะฟักตัวสั้น

*ในบ้านเราสุนัขเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่พบบ่อยที่สุด

สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่มักแสดงอาการแบบดุร้าย โดยระยะแรกเริ่มจะมีลักษณะผิดไปจากที่เคย เช่น สุนัขที่เคยคลุกคลีกับเจ้าของจะแยกตัวและมีอารมณ์หงุดหงิด สุนัขที่ไม่เคยคลุกคลีกับเจ้าของกลับคอยเคล้าเคลียเจ้าของ 2-3 วันต่อมาจะเข้าสู่ระยะตื่นเต้น โดยหมกตัวตามมุมมืด ตอบสนองไวต่อเสียงและสิ่งกระตุ้นต่างๆ ต่อมามีอาการกระวนกระวาย อาจแสดงอาการงับแมลงหรือวัตถุ (เช่น ก้อนหิน ดิน เศษไม้) ที่ขวางหน้า แล้วเริ่มออกวิ่งพล่าน ดุร้าย กัดคนและทุกสิ่งที่ขวางหน้า มีอาการเสียงเห่าหอนผิดปกติ ลิ้นห้อย น้ำลายไหลยืด ต่อมามีอาการขาอ่อนเปลี้ยลง ลำตัวแข็งทื่อ สุนัขจะแสดงอาการในระยะตื่นเต้นนี้ประมาณ 1-7 วัน ช่วงสุดท้ายอาจมีอาการชักแล้วตาย หรือเข้าสู่อาการระยะสุดท้ายคือ ระยะอัมพาต โดยเกิดอาการอัมพาตทั้งตัว สุนัขจะล้มลงแล้วลุกขึ้นไม่ได้ และมักจะตายภายใน 2-3 วัน

สุนัขบางตัวอาจแสดงอาการแบบซึม คือ มีไข้ นอนซม ซึม ไม่กินอาหารและน้ำ ชอบอยู่ในที่มืดๆ เมื่อถูกบังคับจะกัดหรืองับ อาจแสดงอาการคล้ายมีก้างหรือกระดูกติดคอ เช่น ไอ ใช้ขาตะกุยคอ ต่อมาสุนัขจะเดินโงนเงนเปะปะ เป็นอัมพาตทั้งตัว มักตายภายใน 10 วัน (ส่วนใหญ่ 4-6 วัน) โดยไม่แสดงอาการกลัวน้ำแบบที่พบในคน

⇒ อาการ
ระยะอาการนำของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ (38-38.5 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน อาจมีอาการกระสับกระส่าย ลุกลี้ลุกลน วิตกกังวล มีความรู้สึกกลัว นอนไม่หลับ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย

ที่ สำคัญซึ่งถือเป็นอาการที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคนี้คือ บริเวณบาดแผลที่ถูกกัด อาจมีอาการปวดเสียว คัน ชา หรือปวดแสบปวดร้อน โดยเริ่มที่บริเวณบาดแผล แล้วลามไปทั่วทั้งแขนหรือขา

ระยะปรากฏอาการทางระบบประสาท มักเกิดภายหลังอาการนำดังกล่าว 2-10 วัน ซึ่งแบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่

1. แบบคลุ้มคลั่ง ซึ่ง พบได้บ่อยที่สุด (ประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วย) ในระยะแรกๆ อาจมีเพียงอาการไข้ กระวนกระวาย สับสน ซึ่งจะเกิดบ่อยเมื่อถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง เป็นต้น ต่อมาจะมีการแกว่งของระดับความรู้สึกตัว (เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดีสลับกัน) ขณะรู้สึกตัวดี ผู้ป่วยจะพูดคุยตอบโต้ได้เป็นปกติ แต่ขณะความรู้สึกตัวไม่ดี ผู้ป่วยจะมีอาการกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง เดินเพ่นพ่าน เอะอะอาละวาด

ต่อ มาจะมีอาการกลัวลม (เพียงแต่เป่าลมเข้าที่หน้าหรือคอจะมีอาการผวา) กลัวน้ำ (เวลาดื่มน้ำจะปวดเกร็งกล้ามเนื้อคอหอยทำให้กลืนไม่ได้ ไม่กล้าดื่มน้ำทั้งๆ ที่กระหาย หรือแม้แต่จะกล่าวถึงน้ำก็กลัว) ซึ่งพบได้เกือบทุกราย แต่ไม่จำเป็นต้องพบร่วมกันทั้ง 2 อาการ และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่ระยะไม่รู้สึกตัว

นอก จากนี้ ยังพบอาการถอนหายใจเป็นพักๆ (มักพบในระยะหลังของโรค) และอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น น้ำตาไหล น้ำลายไหล เหงื่อออกมาก ขนลุก ในผู้ชายอาจมีการแข็งตัวขององคชาตและหลั่งน้ำอสุจิบ่อย ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ตั้งใจ

ในที่สุดผู้ป่วยจะซึม หมดสติ หยุดหายใจ และเสียชีวิตภายใน 7 วัน (เฉลี่ย 5 วัน) หลังจากเริ่มแสดงอาการ

2. แบบอัมพาต (นิ่ง เงียบ) ซึ่งพบได้บ่อยรองลงมา (ประมาณร้อยละ 30) มักมีอาการไข้ ร่วมกับกล้ามเนื้อแขนขาและทั่วร่างกายอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะไม่ได้ พบอาการกลัวลมและกลัวน้ำประมาณร้อยละ 50 ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเสียชีวิตช้ากว่าแบบที่ 1 คือเฉลี่ย 13 วัน
บางครั้งอาจแยกจากกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร (Guillain Barre syndrome) ได้ยาก

3.แบบแสดงอาการไม่ตรงต้นแบบ (non-classic) ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ถูกค้างคาวกัด ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการปวดประสาทหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ต่อมาจะมีอาการแขนขาซีกหนึ่งเป็นอัมพาตหรือชา มีอาการชักและการเคลื่อนไหวผิดปกติ มักไม่พบอาการกลัวลม กลัวน้ำและอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติดังแบบที่ 1

ระยะไม่รู้สึกตัว ผู้ ป่วยทุกรายเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจะมีอาการหมดสติและเสียชีวิต (จากระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว รวมทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ) ภายใน 1-3 วันหลังมีอาการไม่รู้สึกตัว ถ้าผู้ป่วยมาโรงพยาบาลในระยะนี้อาจทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก อาจเข้าใจผิดว่าเกิดจากโรคสมองอักเสบจากสาเหตุอื่น

⇒ การแยกโรค
อาการ ไข้ ร่วมกับอาการทางระบบประสาท (เช่น คลุ้มคลั่ง สับสน แขนขาอ่อนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว เป็นต้น) อาจเกิดจากโรคระบบประสาทอื่นๆ เช่น

♦ สมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน ซึม ชัก และค่อยๆ ไม่รู้สึกตัวจนหมดสติ

♦ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายสมองอักเสบ แต่จะพบว่ามีอาการคอแข็ง (ก้มคอไม่ลง)

♦ โปลิโอ (ปัจจุบันพบได้น้อย) และกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร ผู้ป่วยจะมีไข้สูง และมีแขนขาอ่อนแรงตามมา

♦ บาดทะยัก ผู้ป่วยมักมีบาดแผลตะปูตำ หนามเกี่ยว หรือบาดแผลปนเปื้อนดินทราย หรือบาดแผลที่ไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องมาก่อน ต่อมาผู้ป่วยมีอาการไข้ ขากรรไกรแข็ง (อ้าปากไม่ได้) กลืนและพูดลำบาก ในที่สุดจะมีอาการชักกระตุกเวลาสัมผัสถูก (แตะเนื้อต้องตัว) หรือถูกแสงหรือได้ยินเสียง

♦ โรคจิต ผู้ป่วยจะมีอาการเอะอะ อาละวาด คลุ้มคลั่ง ประสาทหลอน มักไม่มีอาการไข้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาท ไม่ว่าจะมีสาเหตุอะไรก็ตาม ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์

⇒ การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดง (เช่น กลัวลม กลัวน้ำ ซึม ชัก แขนขาอ่อนแรง) ร่วมกับประวัติการถูกสัตว์กัดมาก่อน
ใน รายที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่ชัด อาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น การเจาะหลัง การตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้า และการตรวจหาระดับสารภูมิต้านทานโรค การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น

⇒ การดูแลตนเอง
หากมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

⇒ การรักษา
โรค นี้ไม่มีทางเยียวยารักษา แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล เพื่อให้ยาตามอาการ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ชัก และติดตามดูอาการจนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต


⇒ การดำเนินโรค

เมื่อปรากฏอาการแสดงของโรคแล้ว ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 1-2 สัปดาห์
โรคนี้ถือว่ามีอัตราตายสูง 100 เปอร์เซ็นต์

ใน ต่างประเทศ เคยมีรายงานผู้ป่วยที่รอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์อยู่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งล้วนเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาป้องกันหลังถูกสัตว์กัดมาก่อนทั้งสิ้น แต่เกิดอาการของโรคพิษสุนัขบ้าที่ไม่รุนแรงและสามารถรักษาให้รอดชีวิตได้

ดังนั้น การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องและการฉีดยาป้องกันหลังถูกสัตว์กัดจึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการจัดการกับโรคนี้

⇒ การป้องกัน
1. ผู้ที่ถูกสุนัข แมว ค้างคาว สัตว์ป่า สัตว์แทะ หรือปศุสัตว์ กัด ข่วน หรือเลีย ควรปฏิบัติดังนี้
(1.) ทำการฟอกล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาด (เช่น น้ำก๊อก น้ำขวด น้ำต้มสุก) กับสบู่ทันที ควรฟอกล้างหลายๆ ครั้ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณเชื้อพิษสุนัขบ้าที่บาดแผล แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือแอลกอฮอล์ชนิด 70%

(2.) ถ้ามีเลือดออกซิบๆ หรือออกไม่หยุด ควรใช้ผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาดปิดแผล และใช้แรงกดปากแผลเพื่อห้ามเลือด

(3.) ควรรีบไปที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปและปรึกษาถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนและ อิมมูนโกลบูลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

(4.) ควรกักขังหรือเฝ้าดูอาการสัตว์ที่ก่อเหตุนาน 10 วัน ในกรณีที่สัตว์นั้นจับตัวหรือหาตัวได้ยาก เช่น สัตว์ป่า หนู ค้างคาว สุนัข หรือแมวจรจัดที่อาจหนีหายไป ถ้าเป็นไปได้ควรหาทางกำจัดแล้วนำซากสัตว์ส่งตรวจ ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อพิจารณาฉีดยาป้องกัน

ทั้ง นี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะควรฉีดยาป้องกันให้ครบถ้วนตามแพทย์สั่ง ส่วนยาที่ฉีดแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้ชนิดใด ขนาดเท่าใด และวิธีการฉีด โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพของผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป


โดยทั่วไป แพทย์จะมีแนวทางการฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้
(1.) ผู้ ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือเคยฉีดน้อยกว่า 3 ครั้ง หรือวัคซีนที่เคยรับเป็นวัคซีนสมองสัตว์ ให้พิจารณาความเสี่ยงของการสัมผัสโรค

♦ ถ้ามีความเสี่ยงที่ระดับ 2 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (หยุดฉีดวัคซีนเมื่อสัตว์ (เฉพาะสุนัขและแมว) เป็นปกติตลอดระยะเวลากักขังเพื่อดูอาการ 10 วัน) ไม่ต้องฉีดอิมมูนโกลบูลิน

♦ ถ้ามีความเสี่ยงที่ระดับ 3 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (หยุดฉีดวัคซีนเมื่อสัตว์ (เฉพาะสุนัขและแมว) เป็นปกติตลอดระยะเวลากักขังเพื่อดูอาการ 10 วัน) และอิมมูนโกลบูลิน

(2.) ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า (pre-exposure) ครบชุด หรือเคยฉีดวัคซีนแบบหลังสัมผัสโรคอย่างน้อย 3 ครั้ง ไม่ต้องฉีดอิมมูนโกลบูลิน ควรฉีดวัคซีนดังนี้

♦ ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาก่อนเกิน 6 เดือน ให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามหรือในชั้นผิวหนัง 2 ครั้ง ในวันที่ 0 และ 3

♦ ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาก่อนภายใน 6 เดือน ให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามหรือในชั้นผิวหนัง 1 ครั้ง

(3.) ในการฉีดวัคซีน ถ้าผู้ป่วยมารับการฉีดไม่ครบ ให้ฉีดวัคซีนโดยนับต่อจากเข็มสุด
ท้ายที่ผู้ป่วยได้รับ ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

2. ผู้ที่เลี้ยงสุนัขและแมว ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สัตว์ที่เลี้ยงทุกตัว เมื่ออายุได้ 12 สัปดาห์ (ถ้าฉีดก่อนควรฉีดซ้ำเมื่ออายุ 12 สัปดาห์) และ 24 สัปดาห์ และต่อไปฉีดกระตุ้นปีละครั้งอย่างต่อเนื่อง

3. ผู้ที่ทำงานที่เสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ แพทย์ และพยาบาลที่มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าบ่อย เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข เป็นต้น ควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้ล่วงหน้าให้ครบ 3 เข็ม

⇒ ความชุก
โรคนี้พบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน
ในปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้เพียงปีละ 20-30 ราย ซึ่งมักจะเป็นกับผู้ที่ถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน แล้วไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา