ปีนี้คาดว่าอากาศจะหนาวเย็นมากกว่าปกติ
อากาศที่หนาวจัด ก็อาจเป็นต้นเหตุทำให้คนหนาวตายได้ ดังเคยปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ
ฉบับนี้มาพูดถึง “ภาวะตัวเย็นเกิน” ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำเกิน อันเป็นผลมาจากการสัมผัสถูกความหนาวเย็น เช่น อยู่ในอากาศหนาว หรือแช่ในน้ำที่เย็นจัด ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำกว่า ๓๕ องศาเซลเซียส เป็นเหตุให้อวัยวะต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวใจและสมอง) ได้รับผลกระทบ และทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติ เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
ชื่อภาษาไทย
ภาวะตัวเย็นเกิน
ชื่อภาษาอังกฤษ
Hypothermia
สาเหตุ
๑. เกิด จากการสัมผัสกับความหนาวเย็น เช่น อากาศหนาว หรือแช่อยู่ในน้ำเย็นจัด มักพบในคนอายุไม่มากที่ร่างกายแข็งแรง เกิดขึ้นเนื่องจากอุบัติเหตุเป็นส่วนใหญ่
๒. เกิด จากร่างกายสูญเสียกลไกปรับอุณหภูมิ ทำให้ไม่สามารถสร้างและเก็บความร้อนในร่างกายได้ มักพบในผู้สูงอายุ (มากกว่า ๖๕ ปี) ผู้ที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน (เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต โรคสมองเสื่อมหรือปัญญาอ่อน พาร์กินสัน เบาหวานที่มีภาวะประสาทเสื่อม ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะขาดอาหาร เป็นต้น) ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือกินยานอนหลับหรือยากล่อมประสาท บุคคลกลุ่มนี้เมื่อสัมผัสอากาศเย็นพอประมาณ (ไม่ถึงกับหนาวมาก) อุณหภูมิร่างกายก็จะลดลงถึงขั้นเป็นอันตรายได้
อาการ
ระยะ แรก ผู้ป่วยจะมีอาการสั่น พูดอ้อแอ้ เดินเซ งุ่มง่าม อ่อนเพลีย ง่วงซึม หงุดหงิด สับสน ความสามารถในการคิดและตัดสินใจด้อยลง (ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่ากำลังได้รับอันตราย)
ต่อมาเมื่ออุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงไปอีก ผู้ป่วยจะหยุดสั่น มีอาการเพ้อคลั่ง ไม่ค่อยรู้ตัว ในที่สุดหมดสติและหยุดหายใจ
การแยกโรค
ภาวะนี้มักเกิดขึ้นเฉียบพลัน และมีสาเหตุจากการถูกสัมผัสความหนาวเย็น จึงค่อนข้างมีความชัดเจนที่ชวนให้สงสัยว่า น่าจะเกิดจากภาวะนี้
อย่างไรก็ตาม ก็อาจคิดถึงสาเหตุอื่นๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกันได้ เช่น
• อาการสั่น ถ้ามีไข้ (ตัวร้อน) ร่วมด้วย ก็อาจเกิดจากไข้ป่า–มาลาเรีย (มีประวัติอยู่หรือเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขา) กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (ปัสสาวะขุ่น ปวดสีข้างข้างใดข้างหนึ่ง) เป็นต้น
• อาการเดินเซ เพ้อคลั่ง ไม่ค่อยรู้ตัว ก็อาจเกิดจากความผิดปกติของสมอง เช่น ตกเลือดในสมอง สมองอักเสบ เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติของการสัมผัสถูกความหนาวเย็น เช่น อยู่ท่ามกลางอากาศหนาว หรือแช่อยู่ในน้ำเย็นจัด และสังเกตจากอาการแสดงที่ตรวจพบ โดยระยะแรกจะพบว่าผิวหนังเย็นและซีด มีอาการสั่น หายใจเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง วัดอุณหภูมิทางทวารหนักมีค่าระหว่าง ๓๒ ถึง ๓๕ องศาเซลเซียส
แต่ถ้าอุณหภูมิลดลงต่ำกว่า ๓๒ องศาเซลเซียส (โดยการวัดทางทวารหนัก) ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหนาวสั่น หายใจช้า ชีพจรเต้นช้าหรือผิดจังหวะ ความดันเลือดต่ำ ปากเขียว ตัวเขียว รูม่านตาโตทั้ง ๒ ข้าง หรืออาการผู้ป่วยหมดสติ หยุดหายใจ คลำชีพจรไม่ได้
การดูแลตนเอง
ถ้ามีคนอยู่ใกล้ๆ ควรตะโกนข้อความช่วยเหลือให้ทำการปฐมพยาบาล
การปฐมพยาบาล
เมื่อพบผู้ป่วยมีภาวะตัวเย็นเกิน ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลด่วน ก่อนส่งควรให้การปฐมพยาบาลดังนี้
๑. พาผู้ป่วยหลบอากาศและลมที่หนาวเย็น หรือขึ้นจากน้ำเย็น เข้าไปในห้องที่อบอุ่นและไม่มีลมเข้า
๒. ถ้าเสื้อผ้าเปียกน้ำควรปลดออกและเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่แห้งแทน
๓. อบอุ่นร่างกายด้วยการห่อหุ้มร่างกายผู้ป่วยด้วยผ้านวม ผ้าห่มหนาๆ หรือเสื้อผ้าหนาๆ ในกรณีที่ยังอยู่ในกลางแจ้ง ควรคลุมถึงหน้าและศีรษะ (เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนจากบริเวณนี้) นอกจากนี้อาจนอนกอดหรือแนบชิดร่างกายผู้ป่วย เพื่อถ่ายเทความร้อนให้ผู้ป่วย
๔. จับให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ ในท่านอนหงายบนพื้นที่อบอุ่นหรือมีผ้าหนาๆ ปูรอง หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่จำเป็น ห้ามนวดหรือแตะต้องตัวผู้ป่วยแรงๆ อาจกระเทือนให้หัวใจหยุดเต้นได้
๕. ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอุ่นๆ ห้ามมีแอลกอฮอล์ผสม เพราะยิ่งจะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน
๖. ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการเป่าปาก ถ้ายังหายใจได้แม้จะแผ่วๆ ก็ยังไม่ต้องทำการกู้ชีพ อาจกระเทือนให้หัวใจหยุดเต้นได้
ทางที่ดีควรดูแลตนเองอย่าให้เกิดภาวะนี้ดีกว่า (ดูหัวข้อ “การป้องกัน”)
การรักษา
เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วน และรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
แพทย์จะรีบหาวิธีทำให้ร่างกายอุ่นขึ้น เช่น ห่มผ้านวมหรือผ้าห่มหนาๆ แช่น้ำอุ่นหรือประคบด้วยน้ำอุ่น ห่มผ้าห่มไฟฟ้า (electric blanket) ให้สารน้ำที่อุ่นเข้าทางหลอดเลือดดำ ให้หายใจอากาศที่อุ่นเข้าร่างกาย การสวนน้ำอุ่นทางกระเพาะอาหาร ทวารหนัก กระเพาะปัสสาวะ ช่องท้อง โพรงเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น
ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจหรือชีพจรไม่เต้น จะต้องรีบทำการกู้ชีพ (CPR) ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ปรับดุลอิเล็กโทรไลต์ในเลือด
แพทย์จะประเมินอาการและภาวะแทรกซ้อนโดยการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น และทำการแก้ไขภาวะผิดปกติตามที่ตรวจพบ
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะตัวเย็นเกินส่งผลกระทบต่ออวัยวะแทบทุกส่วน ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญได้แก่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ มักเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้น (asystole) หรือหัวใจห้องล่างเต้นระรัว (ventricular fibrillation)
นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis) โพแทสเซียมในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง ปอดอักเสบ ไตวาย ภาวะเลือดข้น ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ตับอ่อนอักเสบ ทางเดินอาหารเป็นแผลหรือเลือดออก หลอดลมหดเกร็ง
การดำเนินโรค
ถ้าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที ก็มักจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
ส่วนผู้ที่ได้รับการรักษาจากแพทย์ ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นก่อนมาถึงโรงพยาบาล ถ้าได้รับการรักษาได้เร็ว ก็มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าร้อยละ ๗๕
แต่ถ้าได้รับการรักษาช้าเกินไป หรือมีปัจจัยเสี่ยง (เช่นโรคเรื้อรัง) อยู่ก่อน ผลการรักษาก็มักไม่ดี
การป้องกัน
การป้องกันอันตรายจากความเย็น ควรปฏิบัติดังนี้
๑. สวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นเพียงพอ ห่มผ้าห่มหรือผ้านวมหนาๆ หรือผิงไฟให้อบอุ่น
๒. หลีก เลี่ยงการออกไปสัมผัสอากาศหนาวหรือลมหนาวนอกบ้าน ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้พียงพอ รวมทั้งปกคลุมถึงหน้าและศีรษะ ใส่ถุงมือถุงเท้า
๓. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
๔. ในช่วงอากาศหนาวเย็น ควรดูแลกลุ่มเสี่ยง (เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) เป็นพิเศษ ไม่ให้ได้รับอันตราย
ความชุก
พบได้ประปราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอากาศหนาวเย็น
มัก พบในผู้ที่เผชิญกับความหนาวเย็นโดยขาดการป้องกันร่างกายให้อบอุ่นเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มักจะเจ็บป่วยเรื้อรัง ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือกินยานอนหลับหรือยากล่อมประสาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น