Clock


วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

โรคต้อหิน

เมื่อกล่าวถึงโรคต้อหิน หลายคนมักเข้าใจว่าเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ มีแต่ทรงกับทรุด และจะต้องตาบอดในที่สุด ความเข้าใจเหล่านี้อาจยังไม่ถูกต้องนัก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยี และเครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต้อหิน
ต้อหินเป็นสาเหตุหลักของการเกิดตาบอดในประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย มักพบในคนที่อายุ ๔๐ ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว สายตาสั้นหรือยาวมากผิดปกติ เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีประวัติการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น สตีรอยด์ หรือมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุทางตา จะมีความเสี่ยงในการเป็นต้อหินสูงขึ้น
ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคต้อหิน จะเริ่มจากสูญเสียการมองเห็นของลานสายตารอบนอกก่อน เมื่อการดำเนินของโรครุนแรงมากขึ้นลานสายตาจะแคบลงเรื่อยๆ และตาบอดในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมทันท่วงที
สาเหตุการเกิดต้อหิน
เกิดจากเส้นประสาทตาถูกทำลายจากการมีความดันน้ำในลูกตาสูง สามารถแบ่งชนิดตามสาเหตุได้ดังนี้
๑. ต้อหินมุมเปิด เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยพบในคนอายุมากกว่า ๔๐ปี มักสังเกตไม่พบอาการผิดปกติหรือสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า เนื่องจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นเริ่มจากการสูญเสียการมองเห็นจากรอบนอกลาน สายตาและค่อยๆ ลามเข้ามาตรงกลางจนมืดไปในที่สุด
๒. ต้อหินแต่กำเนิด พบได้ในเด็กแรกเกิดหรือภายในช่วงอายุ ๒-๓ ขวบ เกิดจากระบบระบายน้ำในลูกตาไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ในครรภ์
๓. ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน พบมากในคนเอเชีย เกิดจากมีการอุดตันของทางระบายน้ำในลูกตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอาการปวดตาและบริเวณหัวคิ้วอย่างรุนแรง ตาแดง การมองเห็นลดลงอย่างมาก มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ต้อหินกลุ่มนี้ต้องการการรักษาทันทีเพื่อลดอาการรวมทั้งป้องกันตาบอดที่อาจ เกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาข้ามวันหากไม่ได้รับการลดความดันลูกตา
๔. ต้อหินจากสาเหตุอื่น เช่น เบาหวาน อุบัติเหตุทางตา แล้วมีการการอุดตันของทางระบายน้ำในลูกตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้นอาจเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือรวดเร็วเฉียบพลัน

การวินิจฉัยโรคต้อหิน
ทำได้ง่ายๆ โดยการตรวจสุขภาพตาทั่วไป วัดความดันลูกตา ตรวจลานสายตา ตรวจดูลักษณะของทางระบายน้ำในลูกตาและเส้นประสาทตา โดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ในอดีต หากจักษุแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยใดเป็นโรคต้อหิน จะทำการตรวจตาอย่างละเอียด ขยายม่านตาเพื่อตรวจดูลักษณะของขั้วประสาทตาว่ามีความผิดปกติมากน้อยเพียงใด และวาดรูปขั้วประสาทตาไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการติดตามการรักษา ซึ่งอาจไม่ได้มาตรฐานที่ชัดเจนและเกิดความผิดพลาดได้มาก ต่อมาได้มีการถ่ายภาพขั้วประสาทตา เป็นระยะๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตา เพื่อติดตามผลการรักษา

การรักษาโรคต้อหิน
คือการพยายามลดความดันน้ำในลูกตา โดยลดการผลิต หรือเพิ่มการระบายน้ำ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การใช้ยาหยอดตา ยากิน ยิงแสงเลเซอร์ และการผ่าตัด ในแต่ละวิธีมีข้อจำกัดในการใช้ ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยและประเภทของต้อหิน ส่วนผู้ป่วยต้อหินชนิดมุมเปิดนั้น ปัจจุบันการยิงแสงเลเซอร์เพื่อลดความดันลูกตาได้รับความนิยมมาก เนื่องจากสามารถลดปริมาณ ผลข้างเคียงและค่าใช้จ่ายจากการใช้ยาหยอด เพิ่มคุณภาพชีวิต และชะลอการผ่าตัด
อย่างไรก็ดี การรักษาโรคต้อหินนั้น เป็นเพียงการหยุดการดำเนินโรคแต่ไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่สูญเสียไป แล้วกลับเป็นปกติได้ ดังนั้นการป้องกันและการรักษาในระยะเริ่มต้น จึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ไม่สูญเสียการมองเห็นในระยะยาว เนื่องจากโรคต้อหินในระยะเริ่มต้นนั้นไม่มีอาการผิดปกติหรือสัญญาณเตือนภัย ให้ผู้ป่วยทราบว่าโรคนี้ซ่อนเร้นอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหิน เช่นมีอายุมากกว่า ๔๐ ปี มีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สายตาสั้นหรือยาวมากผิดปกติ ควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ
สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่เว็บไซต์ www.rcopt.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา