Clock


วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มะเร็งมดลูก วิธีรักษาและข้อมูลน่ารู้

วีณา อายุ 45 ปี เธอเป็นคนอ้วนที่มีน้ำหนักตัวถึง 70 กิโลกรัม แต่เนื่องจากเธอไม่มีภาระมาก จึงมีเวลาไปออกกำลังกายกับแม่บ้านคนอื่น ๆ กีฬาที่เธอโปรดปรานคือการว่ายน้ำ หลังจากว่ายน้ำเสร็จเธอก็มักจะไปรับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อน ๆ โดยสั่งอาหารตามใจชอบ ทำให้น้ำหนักของเธอไม่ลดลงเลยแม้จะว่ายน้ำเป็นประจำสม่ำเสมอก็ตาม แต่อยู่ ๆ ก็มีอาการผิดปกติของรอบเดือน เธอมีประจำเดือนติดต่อกันยาวนานกว่า 10 วัน และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด เธอจึงไม่สามารถไปว่ายน้ำได้
     จนเวลาผ่านไปครึ่งปี วีณาพบว่าประจำเดือนของเธอมาเร็วกว่าปกติถึง 2 สัปดาห์ และครั้งนี้มาแค่ 2 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลก ทำไมเธอถึงมีความผิดปกติของประจำเดือนเกิดขึ้นนานถึง 3 เดือน เมื่อเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง ทุกคนต่างบอกเธอว่าเป็นอาการของช่วงประจำเดือนหมดในสตรีที่อายุระหว่าง 45-50 ปี ที่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง หารู้ไม่ว่านั่นเป็นอาการของโรคร้ายที่กำลังมาเยือน
     หลังจากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นครั้งนั้น ผ่านไปประมาณ 1 ปี พบว่ามีก้อนแข็งเกิดขึ้นที่หน้าอกด้านขวาของเธอ ทันทีเธอนึกไปถึงมะเร็งเต้านม จึงรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลและได้ทราบว่าเป็นก้อนมะเร็งจริง ๆ แต่ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ทว่าซ้ำร้ายหลังจากตรวจอย่างละเอียดกลับพบว่าเธอเป็นโรคมะเร็งมดลูกด้วย เพราะเหตุใดเธอถึงป่วยเป็นมะเร็งพร้อมกันถึง 2 ที่ แล้วจะทำการรักษาอย่างไรต่อไป

     กลุ่มเสี่ยง
     ผู้หญิงที่มีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมามากเกินไป บางครั้งหายไป หรือมาบ้าง ไม่มาบ้าง เกิดกับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 35-80 ปี และอายุมากกว่า 50 ปี

     อาการที่พึงระวัง
    มีประจำเดือนนานกว่าปกติ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ช่วงประจำเดือนแต่ก็มีเลือดไหลออกมา หรือมีอาการผิดปกติในช่วงหมดประจำเดือนและเข้าใจว่าเป็นอาการปกติของวัยหมด ประจำเดือน หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปตรวจเพื่อหาสาเหตุก่อนที่จะสายไป

     ลักษณะของโรค
     โรคมะเร็งมดลูก เกิดจากการที่มีเนื้อร้ายไปเจริญเติบโตบริเวณด้านหลังของมดลูก ส่วนใหญ่มักเกิดกับสตรีที่อยู่ในช่วงอายุ 45 ปี และหลังหมดประจำเดือนแล้ว โดยประจำเดือนจะมาผิดปกติ เช่น มาระยะสั้นบ้าง ยาวบ้าง มาเร็วหรือช้าบ้าง รวมไปถึงการมีเลือดออกที่ไม่ใช่ประจำเดือนปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้รู้ถึงการเป็นมะเร็งมดลูกนั่นเอง นอกจากนี้มีผู้หญิงจำนวนมากเข้าใจว่า อาการดังกล่าวเป็นสัญญาณของการหมดประจำเดือน จึงไม่ได้สนใจ จนเนื้อร้ายนั้นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นมะเร็ง
     การที่มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับมะเร็งมดลูก จะเรียกว่า"โรคมะเร็งซ้ำซ้อน" เพราะไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งมดลูกหรือมะเร็งเต้านมต่างก็มาจากความผิดปกติของ ความสมดุลของฮอร์โมนในสตรี ดังนั้นมะเร็งทั้งสองชนิดนี้จึงมักเกิดและเติบโตในเวลาไล่เลี่ยกันสาเหตุ หนึ่งที่ทำให้ฮอร์โมนในสตรีเกิดความผิดปกติก็คือ ความอ้วน คนอ้วนซึ่งมีไขมันในร่างกายสะสมอยู่มากจะมีฮอร์โมนหลั่งออกมาตลอดเวลา และอวัยวะที่มีผลต่อการหลั่งของฮอร์โมนมากที่สุดก็คือมดลูกและเต้านมนั่นเอง
     กรณีของมะเร็งซ้ำซ้อนซึ่งเกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็น ฮอร์โมนสตรี เป็นระยะเวลานาน ๆ จนเอสโตรเจนออกมามากผิดปกติ และไปกระตุ้นอวัยวะที่ไวต่อฮอร์โมนบริเวณเต้านมกับบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก โดยจะถูกกระตุ้นพร้อมกัน อาจจะมดลูกก่อนและอาจจะมาเป็นเต้านมทีหลังอีกที แต่เป็นกรณีที่พบได้ไม่มากนัก ปัจจุบันมีคนเป็นโรคมะเร็งในลักษณะนี้มากขึ้นเนื่องจากผู้หญิงไทยในปัจจุบัน มีภาวะของโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้น
     มะเร็งมดลูกสามารถรักษาหายได้ หากรู้ตัวตั้งแต่ระยะแรก ๆ คือเป็นระยะที่ 1 พบว่าประมาณ 70% ขึ้นไป สามารถหายภายใน 5 ปี ระยะที่ 2 จะตรวจพบประมาณ 50% ผู้ป่วยจะสามารถมีชีวิตรอด 5 ปี ระยะที่ 3 จะตรวจพบประมาณ 30% ระยะที่ 4 มีประมาณ 10%
     จากสถิติการเป็นมะเร็งมดลูกของคนไทย พบว่า คนไทยเป็นมะเร็งมดลูก ปีละ 1.7% ของมะเร็งในผู้หญิง พบในช่วงอายุ 35-80 ปีประมาณ 1.73% และประมาณ 65.7% พบในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และประมาณ 50% ของมะเร็งมดลูก พบในคนอ้วนและอีก 50% พบในสตรีที่ไม่มีบุตร

     วิธีการรักษาโรคมะเร็งมดลูก
     การตรวจมะเร็งมดลูกสามารถทำได้โดยการตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อดูความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก ว่ามีความหนาเกิน 1 เซนติเมตรหรือไม่ ถ้าเกินถือว่าผิดปกติ โดยเริ่มจากการทาเจลที่บริเวณหน้าท้อง เพื่อเป็นตัวนำคลื่นเสียงความถี่สูงให้ผ่านไปยังเนื้อเยื่อง่ายขึ้น จากนั้นจะนำหัวตรวจอัลตราซาวนด์ไปวางที่หน้าท้อง จากนั้นภาพก็จะปรากฏบนหน้าจอ เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

     รู้ไว้ ไกลโรคมะเร็งมดลูก
     ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ และไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน และควรไปรับการตรวจเต้านมและมดลูก โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป รวมถึงสตรีที่ไม่มีบุตรซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง

     ***ภาพจำลองการเติบโตของมะเร็งในเวลาเดียวกัน***
     ***ร่างกายที่มีไขมันสะสมอยู่มากจะมีฮอร์โมนหลั่งออกมาตลอดเวลา***

     แพทย์ผู้ให้ข้อมูล : นพ.ทวีศักดิ์ หาญพานิชเจริญ  สูติ-นรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญประจำโรงพยาบาลพญาไท 3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา