Clock


วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

โรคขาดสารไอโอดีน

โรคขาดสารไอโอดีน
โรคขาดสารไอโอดีน หมายถึงภาวะร่างกายได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเป็นประจำ ซึ่งมีผลต่อการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนทำให้เกิดการเสียสมดุลในการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่เรียกว่า ความผิดปกติของการขาดสารไอโอดีน (Iodine Deficiency Disorder : IDD) คือเกิดอาการคอพอก (Goiter), ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyrodism), โรคเอ๋อ (Cretinism) ซึ่งทำให้ระดับสติปัญญาพัฒนาด้อยกว่าปกติ และมีพัฒนาการทางร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ ถ้ามีการขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ จะมีผลทำให้ทารกมีพัฒนาการของสมอง และระบบประสาทที่ช้ากว่าปกติ และหากขาดสารไอโอดีนในระดับรุนแรง อาจทำให้แท้งหรือตายก่อนคลอด หรือเกิดความพิการแต่กำเนิด อาการแสดงของโรคขาดสารไอโอดีนนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการขาดสารไอโอดีน และช่วงระยะเวลาของการขาดสารไอโอดีน
สรุปอาการแสดงของโรคขาดสารไอโอดีน ตลอดช่วงชีวิตมนุษย์
  ระยะของชีวิต อาการแสดงทางคลินิคและผลกระทบที่เกิดขึ้น
ตัวอ่อนในครรภ์ แท้ง หรือ ตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ / เพิ่มอัตราป่วยและอัตราตายในทารกช่วงอายุ 28 สัปดาห์ในครรภ์ จนถึง 28 วันแรกหลังคลอด / ปัญญาอ่อนอย่างถาวร (โรคเอ๋อ) / เชาว์ปัญญาลดลง สูญเสียการได้ยิน และมีความผิดปกติทางระบบประสาทและการเคลื่อนไหว
ทารกแรกเกิด - 2 ปี คอพอก / ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ / เชาว์ปัญญาลดลง สูญเสียการได้ยิน และมีความผิดปกติทางระบบประสาทและการเคลื่อนไหว
เด็ก คอพอก / ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ / ตัวเตี้ย แคระแกร็น สติปัญญาพัฒนาเชื่องช้า
ผู้ใหญ่ คอพอก / ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำและมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ มีอาการเกียจคร้าน เชื่องช้า ง่วงซึม ผิวหนังแห้ง ทนความหนาวเย็นไม่ค่อยได้ เสียงแหบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องผูก
การขาดสารไอโอดีนทำให้เป็นคอพอก
เมื่อ ขาดสารไอโอดีน ต่อมไทรอยด์ซึ่งมีหน้าที่สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนจึงมีขนาดโตขึ้น เรียกกันโดยทั่วไปว่าคอพอก (Goiter) ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการปรับตัวของร่างกายเพื่อต่อสู้กับการขาดไอโอดีน ทั้งนี้เพราะเมื่อร่างกายขาดฮอร์โมน thyroxine จะส่งผลไปกระตุ้นไฮโปทาลามัสให้หลั่งสารเคมีมากระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้า ให้หลั่งฮอร์โมน TSH (Thyroid stimulating hormone) ส่งมาที่ต่อมไทรอยด์มากเกินกว่าระดับปกติ ต่อมไทรอยด์เมื่อได้รับการกระตุ้นมากจึงขยายขนาดโตขึ้น ถ้าโตมาก ๆ จะไม่สวย กดหลอดลมทำให้หายใจลำบาก ไอ สำลัก ถ้ากดหลอดอาหารจะกลืนอาหารลำบาก
การขาดสารไอโอดีนทำให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ
ผลการศึกษาในหลายประเทศพบว่า การขาดสารไอโอดีนในระดับเล็กน้อย อาจไม่ทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายอย่างชัดเจน แต่ยังคงมีผลต่อระดับเชาว์ปัญญาหรือไอคิว
ทารกตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 2-3 ปี ถ้าขาดไอโอดีน จะมีสติปัญญาด้อย มีไอคิวต่ำกว่าที่ควรจะเป็นตามศักยภาพถึง 30 จุด
เด็กที่อยู่ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการขาดไอโอดีน มักมีไอคิวต่ำลงประมาณ 13.5 จุด
เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีปัญหาไทรอยด์มักมีไอคิวต่ำกว่า 85

 การขาดสารไอโอดีนอย่างรุนแรงทำให้สมองถูกทำลายอย่างถาวร การที่สมองถูกทำลายอย่างถาวรนี้ ได้รับการพิสูจน์แน่นอนจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก 2 ท่าน คือ นายแพทย์จอหน์ แสตนเบอรี่ จากสหรัฐอเมริกา และนายแพทย์เบซิล เฮทเซล จากออสเตรเลีย
ทารกที่คลอดจากแม่ที่ขาดสารไอโอดีนอย่างรุนแรงขณะตั้งครรภ์ มักเป็นโรคเอ๋อ คือ สติปัญญาทึบ หูหนวก เป็นใบ้ พิการทางประสาทและกล้ามเนื้ออย่างถาวร ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ต้องเป็นภาระเลี้ยงดูของครอบครัวและสังคมตลอดไป


สาเหตุของการขาดสารไอโอดีน
ทำไมคนเราถึงขาดไอโอดีน
การขาดสารไอโอดีนมีสาเหตุหลายประการ ดังนี้
1. จากธรรมชาตสภาพแวดล้อมที่ขาดไอโอดีนพบได้ทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะบริเวณที่ห่างไกลทุรกันดาร หรือบริเวณภูเขาเหมือนที่เคยเข้าใจกัน เนื่องจากไอโอดีนถูกชะล้างออกจากดิน และไหลลงสู่ทะเลเป็นระยะเวลากว่าล้านปี ทำให้ผลผลิตอาหารในภาคเกษตร และน้ำดื่ม มีปริมาณไอโอดีนต่ำอยู่ตลอด ผู้บริโภคอาหารในท้องถิ่นเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงต่อการขาดสารไอโอดีน หากไม่ได้รับการเสริมไอโอดีนจากอาหารแหล่งอื่น ๆ
2. พื้นที่ที่ห่างไกลทะเล การคมนาคมลำบาก ทำให้อาหารทะเลเข้าไม่ถึง ประกอบกับอาหารทะเลราคาแพง ทำให้ไม่ได้บริโภคอาหารทะเลอย่างสม่ำเสมอ
3. ประชาชนโดยทั่วไป ยังขาดความรู้ถึงสาเหตและความรุนแรงของโรคขาดสารไอโอดีน ส่วนใหญ่รู้จักโรคนี้ เพียงอาการคอพอก ไม่ทราบถึงผลการเจริญเติบโต และพัฒนาการทางสติปัญญา
4. ประชาชนมีความเชื่อที่ผิดว่า การบริโภคเกลือทะเลนั้นได้รับไอโอดีนเพียงพอ แต่แท้จริงแล้ว ในเกลือทะเลมีปริมาณไอโอดีนน้อยมาก แทบไม่แตกต่างกับเกลือสินเธาว์เลย
 
5. การครอบคลุมของเกลือเสริมไอโอดีนยังไม่ทั่วถึง
6. เกลือเสริมไอโอดีนที่ผลิตออกมากยังมีปริมาณไอโอดีนไม่สม่ำเสมอ ซึ่งทำให้คุณภาพของเกลือเสริมไอโอดีน ไม่ได้มาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัด เชิงบริหารจัดการ ด้านการควบคุม กำกับคุณภาพ ของเกลือเสริมไอโอดีน
7. ประชาชนบางพื้นที่ไม่นิยมบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน เพราะมีความความรู้สึกอุปทานว่า เกลือเสริมไอโอดีนมีกลิ่นและรสชาติ แตกต่างไปจากเกลือธรรมชาติ
 
 
สถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนของโลก
สภาพแวดล้อมที่ขาดสารไอโอดีนพบได้ทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะในบริเวณที่ห่างไกลทุรกันดาร หรือบริเวณภูเขาเหมือนที่เคยเข้าใจกัน เนื่องจากไอโอดีนถูกชะล้างออกจากดินและไหลไปสู่ทะเลเป็นระยะเวลากว่าล้านปี ทุกพื้นที่ในโลกทั้งแหล่งทางการเกษตรและน้ำดื่ม มีปัญหาการขาดสารไอโอดีนเพิ่มมากขึ้นทุกทศวรรษที่ผ่านไป
โรคขาดสารไอโอดีนเป็นปัญหาสาธารณสุขใน 54 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย
เด็กแรกเกิด 60 ล้านคนไม่ได้รับการคุ้มครองจากโรคขาดสารไอโอดีน
การศึกษาอย่างกว้างขวาง พบว่า มากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการขาดสารไอโอดีน ผู้คนมากกว่า 2 พันล้านคนที่สมองถูกทำลายในระดับต่าง ๆ กัน หรือมีความผิดปกติทางร่างกายจากการขาดสารไอโอดีน เด็กอ่อนเกือบ 60 ล้านคนที่เกิดมาทุกปีโดยปราศจากการป้องกันภาวะสมองถูกทำลายจากการขาดสารไอโอดีน
จากการสำรวจครั้งล่าสุดขององค์การอนามัยโลก พบว่า
- ประชากรเกือบ 2 พันล้านคน เสี่ยงในการเป็นโรคขาดสารไอโอดีน
- ประชากร 655 ล้านคน เป็นโรคคอพอก
- ประชากรมีความพิการทางสมอง จากโรคขาดสารไอโอดีน สูงถึง 5.7 ล้านคน 


สถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนของประเทศไทย
การประเมินสถานการณ์ของโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย ดำเนินการโดยวิธีตรวจคลำคอ เพื่อตรวจคอพอก และใช้อัตราคอพอกในเด็กนักเรียนประถมศึกษา เป็นดัชนีชี้วัด โดยให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ร่วมกับครูอนามัย ในโรงเรียนประถมศึกษา ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งผ่านการฝึกอบรม วิธีการตรวจคอพอก แล้วทำการตรวจหาอัตราคอพอก ในเด็กนักเรียน และรายงานผลปีละ 1 ครั้ง พบว่า ปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนของประเทศไทย มีแนวโน้มลดลง
สถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนในเด็กไทย
 
พ.ศ.
อัตราคอพอก (%)
2532
19.3
2533
16.7
2534
15.3
2535
12.2
2536
9.8
2537
7.9
2538
5.5
2539
4.3
2540
3.3
2541
2.6
2542
2.2
2543
2.1
2544
2.0
2545
1.7
2546
1.3
เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ปี พ.ศ.2546 เป็นรายภาค พบว่า ทุกภาคมีอัตราคอพอก ต่ำกว่าร้อยละ 5
ร้อยละของเด็กขาดสารไอโอดีน ปีพ.ศ.2546
ภาคกลางรวมภาคตะวันออก
0.37
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1.91
ภาคเหนือ
1.62
ภาคใต้
0.25
สถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนในหญิงมีครรภ์
จากผลการศึกษาความชุกของการขาดไอโอดีนในหญิงมีครรภ์ ปี พ.ศ.2546 โดยใช้ระดับไอโอดีนในปัสสาวะเป็นดัชนีชี้วัดพบว่า
ขาดไอโอดีนรุนแรง ร้อยละ 47
ขาดไอโอดีนปานกลาง ร้อยละ 8.6
ขาดไอโอดีนเล็กน้อย ร้อยละ 15.8
จากการดำเนินการจัดทำระบบเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินผลความก้าวหน้า โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ปี 2543-2546 โดยใช้ไอโอดีนในปัสสาวะเป็นตัวชี้วัด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดเกณฑ์เอาไว้ว่า สัดส่วนของผู้ที่ขาดไอโอดีนระดับรุนแรง (< 2 ug/dl) และระดับปานกลาง (2-4.9 ug/dl) รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 20 และสัดส่วนของผู้ที่ขาดทุกระดับต้องไม่เกินร้อยละ 50 พบว่า
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ที่ขาดสารไอโอดีนสูงกว่าเกณฑ์ทั้ง 2 ระดับ ตลอด 4 ปีที่ทำการศึกษา
ภาคกลางมีสัดส่วนของผู้ที่ขาดไอโอดีนในระดับรุนแรงและปานกลางสูงกว่าเกณฑ์ในปี 2544 และ 2545
ภาคเหนือมีสัดส่วนของผู้ที่ขาดไอโอดีนในระดับรุนแรงและปานกลางสูงกว่าเกณฑ์ในปี 2546       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา